16/10/63

ขึ้นเมืองเลยหนาวนี้ต้องลอง

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 

ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม  ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


ภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีภูมิอากาศบริเวณพื้นราบรอบเชิงเขาเหมือนกับบริเวณอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26 °C อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน ปริมาณหยาดน้ำฟ้า 1,242 มิลลิเมตรต่อปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 72%

สภาพอากาศบนยอดภูกระดึง เนื่องจากอิทธิพลของเมฆและหมอกที่ปกคลุมยอดเขา ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90% อุณหภูมิเฉลี่ย 19.7 °C ในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 0-10 °C อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 21-24 °C ส่วนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 12-19 °C อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 23-30 °C อากาศบนยอดภูกระดึงมักจะแปรปรวน มีเมฆหมอกลอยต่ำปกคลุมบ่อยครั้ง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี

สระอโนดาต เป็นสระน้ำที่สำคัญบนภูกระดึงเนื่องจากมีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งน้ำสำคัญต่อสัตว์ป่าต่างๆ

เส้นทางการท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก เฉพาะบนยอดเขาภูกระดึงมีการปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายนของทุกปี และเปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 พฤษภาคมของทุกปี

เส้นทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึง

  1. เส้นทางขึ้นที่อำเภอภูกระดึง: เป็นเส้นทางเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาในเส้นทางนี้ได้ที่อำเภอภูกระดึง ณ ที่ทำการอุทยาน ในเส้นทางขึ้นจะมีบริเวณที่พักและร้านอาหารหลายช่วง มีระยะทาง 5.5 กม.จากที่ทำการถึงหลังแป และจากหลังแปถึงที่พักประมาณ 3.6 กม.
  2. เส้นทางขึ้นที่อำเภอน้ำหนาว: นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึงได้ที่บ้านฟองใต้อำเภอน้ำหนาว ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาเส้นทางใหม่ โดยจะขึ้นไปที่ผาหล่มสักโดยตรง มีระยะมีระยะทาง 5.2 กิโลเมตรจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง) ถึงผาหล่มสัก

เส้นทางท่องเที่ยวบนยอดเขาภูกระดึง

เส้นทางท่องเที่ยวบนยอดเขาภูกระดึงแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือบริเวณท่องเที่ยวปกติ และบริเวณป่าปิด โดยบริเวณแหล่งท่องเที่ยวปกติก็จะแบ่งได้เป็นสองเส้นทางคือ เส้นทางน้ำตก และ เส้นทางเลียบผา ส่วนบริเวณป่าปิดก็จะแบ่งได้เป็น เส้นทางน้ำตกขุนพอง และ เส้นทางผาส่องโลก

เส้นทางน้ำตกจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ สระแก้ว น้ำตกถ้ำสอใต้ สระอโนดาด น้ำตกธารสวรรค์ และ พระพุทธเมตตา เส้นทางเลียบผาจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ พระแก้ว ผานกแอ่น ผาหมากดูก ผาจำศีล ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ผาแดง และผาหล่มสัก เส้นทางน้ำตกขุนพองจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่น้ำตกขุนพอง และเส้นทางผาส่องโลกจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ น้ำตกผาฟ้าผ่า โหล่มฟ้าโลมดิน ผาส่องโลก โหล่นเจดีย์ โหล่นถ้ำพระ และ แง่งทิดหา

จุดดูพระอาทิตย์ขึ้นสามารถดูได้ที่ผานกแอ่นเพียงที่เดียวมีระยะทางห่างที่พักเพียง 2 กม. สำหรับจุดดูพระอาทิตย์ตกสามารถชมได้ที่ผาหมากดูกซึ่งใกล้ที่สุดห่างจากที่พักเพียง 2 กม. และผาหล่มสักซึ่งเป็นจุดที่นิยมมากที่สุด

 

เครดิต : https://1th.me/ukpgn

 

สกายวอล์คภูคกงิ้ว

พระใหญ่ภูคกงิ้ว ตั้งอยู่ที่ภูคกงิ้ว บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาบริเวณปากลำน้ำเหืองจรดกับแม่น้ำโขง เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพรเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงคานและประชนทั่วไป

 

 แลนด์มาร์คแห่งใหม่ล่าสุดของ จังหวัดเลย  “สกายวอล์คเชียงคาน” หรือ "สกายวอล์คภูคกงิ้ว" ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย บอกเลยว่าต้องขาสั่นเลยทีเดียว เพราะความสูงของสกายวอล์คนี้ มีความสูงกว่าระดับแม่น้ำโขงกว่า 80 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 30 ชั้น มีทางเดินที่ทำด้วยกระจกใสชนิดพิเศษ พื้นกว้าง 2 เมตร ยาวกว่า 100 เมตร มีตะแกรงเหล็กรองรับ และมีพระใหญ่คกงิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร หล่อด้วยไฟเบอร์ผสมเรซิ่นทอง สูงกว่า 19 เมตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของแลนด์มาร์คนี้  

 

ส่วนทัศนียภาพบริเวณรอบนอกจากจะสามารถทอดสายตามองแบบสุดลูกหูลูกตาแล้ว ด้านล่างยังสามารถมองเห็นแม่น้ำเหืองที่ไหลผ่านมาบรรจบแม่น้ำโขง ซึ่งสามารถมองเห็นแม่น้ำทั้งสองสีตัดกันอย่างชัดเจนและยังเป็นแม่น้ำที่กั้นชายแดนไทย-ลาว อีกด้วย นับว่าเป็นอีกหนี่งจุดเช็คอินที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาสักครั้ง เมื่อมาเที่ยวจังหวัดเลย

ที่อยู่ : บ้านท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย 42110
 

วนอุทยานภูผาล้อม

 

ภูผาล้อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า กวนผาล้อมเป็นชื่อของเทือกเขาหินปูนที่มีทิวทัศน์สวยงามและปกคลุมด้วยธรรมชาติป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำและที่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะเลียงผาหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนก็ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นี้ กรมป่าไม้จึงได้ประกาศให้ภูผาล้อมเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2539 โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8,500 ไร่ 

            - มีที่กางเต็นท์และห้องสุขา
            - ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง

การเดินทาง 

- รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองเลยข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเลย แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2138 ตรงไปจนถึงหลัก กม.9 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2249 ไปจนถึงบ้านเพีย ระยะทางประมาณ 18 กม. แล้วเลี้ยวขวาข้างวัดเลียบบ้านเพียไปตามถนนายบ้านเพียบ-ห้วยตาดประมาณ 2 กม. พบป้ายทางเข้าสำนักสงฆ์กวนผาล้อมทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 2 กม. ถึงวนอุทยาน 

- รถประจำทาง ขึ้นรถสายเลย-บ้านสูบ ลงที่บ้านเพีย แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ราคา 20 บาท  

 
 

วัดศรีคุณเมือง

 

"วัดศรีคุณเมือง" หรือ "วัดใหญ่" หนึ่งในหลายศาสนสถานสำคัญและถือเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่นี่ ตั้งอยู่บนถนนชายโขง ระหว่างซอยศรีเชียงคาน 6 และซอยศรีเชียงคาน 7 วัดนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2485 และถือเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคานมาอย่างยาวนาน และทุกวันพระรวมถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนา วัดแห่งนี้จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ซึ่งมีทั้งชาวเชียงคานเองรวมถึงนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ที่ต่างก็พร้อมใจกันมาร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมกันอย่างถ้วนหน้า ครั้งแรกที่มาถึง เมื่อเราเดินผ่านกำแพงแก้วเข้ามาภายในบริเวณวัด ก็ต้องสะดุดตากับโบสถ์เก่าแก่ที่มีหลังคาลดหลั่นกันลงมาตามแบบศิลปะล้านนา อยู่เบื้องหน้า นอกจากนี้บริเวณผนังด้านหน้าของพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปรากฏให้เห็นอยู่เต็มหน้าบรรณ ซึ่งภาพทั้งหมดนี้เป็นภาพนิทานชาดกชุด พระเจ้าสิบชาติ และถ้าสังเกตยังบริเวณด้านล่างของภาพจะเห็นว่ามีรูปรถตุ๊กตุ๊กอยู่ด้วย ทำให้สันนิฐานได้ว่า น่าจะเป็นภาพที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่หรืออาจมีการแต่งเติมลงไปบนภาพเขียนเดิม ก็เป็นได้ และเมื่อเดินผ่านประตูโบสถ์เข้ามาด้านใน ก็จะพบกับพระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทอง ปางประธานอภัย ที่สร้างตามแบบศิลปะล้านช้างหรือแบบลาว ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างขึ้นมาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 24-25 และมีข้อสังเกตว่าสำหรับผู้หญิงแล้ว การที่จะเข้ามาสักการะพระพุทธรูปไม้จำหลักนี้ จะทำได้เพียงการก้มกราบอยู่ตรงบริเวณด้านล่างของอาศนะสงฆ์เท่านั้น ก่อนกลับให้ลองสักเกตบริเวณด้านข้างของพระประธานกันให้ดี ๆ เพราะจะมี "ฮางฮด" หรือ "รางรด" ที่มีลักษณะคล้ายรางน้ำตั้งอยู่ โดยตัวรางจะเป็นรูปของเรือสุพรรณหงส์ ส่วนด้านหน้าจะเป็นเศียรของพญานาค และส่วนท้องค่อนมาทางหัวของพญานาคจะมีรูให้น้ำไหลลงมาได้ ฮางฮดนี้จะใช้ในการประกอบพิธีสรงน้ำพระผู้ใหญ่หรือเจ้าเมืองเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว

การเดินทาง

ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 จากตัว อ.เมือง ถึง อ.เชียงคาน ระยะทาง 47 ก.ม.จากสามแยกเชียงคาน เลี้ยวขวาเข้าถนนศรีเชียงคาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีเชียงคาน 7 เพื่อไปยังถนนชายโขง วัดศรีคุณเมืองอยู่ระหว่างซอยศรีเชียงคาน 6-7

เครดิต : https://1th.me/T5bmd


พระพุทธบาทภูควายเงิน

โบราณสถานเก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง ในอำเภอเชียงคานจังหวัดเลย ศาสนสถาน ศักดิ์สิทธิ์ สำคัญที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคานมานาน แต่อดีตซึ่งในครั้งเก่าก่อนเชื่อกันว่า ใครก็ตามที่จะมาถึงวัดพระพุทธบาทภูควายเงินได้ ต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาจริง ๆ เท่านั้น ส่วนคนที่มีบุญหรือมีวาสนาไม่ถึงก็จะมีเหตุและอุปสรรค์ต่าง ๆ ทำให้มาไม่ได้ทั้งที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
 
 
จากหลักฐานที่บันทึกประวัติความเป็นมาของวัด ได้ระบุไว้ว่าวัดพระพุทธบาทภูควายเงินสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2300 เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 400 เมตรนอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่าต่อกันมาด้วยว่า ในอดีตวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง แต่มักจะมีพระธุดงค์เดินทางมากปักกลดบำเพ็ญเพียรอยู่เสมอ และในบริเวณวัดยังมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่ภายใต้ซุ้มอิฐใหญ่ ขนาดพอที่คนจะเข้าไปนั่งได้ 2 คนซึ่งในภาษาถิ่นจะเรียกสิ่งปลูกสร้างในลักษณะนี้ว่า"อุบมุง" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้านทางทิศตะวันออกของวัดคือบ้านอุมุง ที่หมู่บ้านอุมุงแห่งนี้ มีชาวนาผู้หนึ่งที่มักพาควายขึ้นมาหาหญ้ากินบนภูเขาบริเวณวัด และเมื่อมีพระธุดงค์ผ่านมาชาวนาผู้นี้ก็จะนำเอาอาหารมาถวายแก่พระธุดงค์เป็น ประจำ ซึ่งอานิสงส์แห่งการถวายทานนี้เอง ทำให้ชาวนาทำนาขายข้าวได้เงินมากทุกปี จนร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐีและด้วยสำนึกในบุญคุณของควาย ที่ช่วยไถนาปลูกข้าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ชาวนาจึงเรียกควายตัวนี้ว่า"ควายเงิน" วัดแห่งนี้จึงตั้งชื่อว่า"วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน" ตามเรื่องเล่านี้เอง และเนื่องจากการทำนาในบริเวณภูควายเงิน นั้นได้ผลผลิตดีต่อมาจึงได้มีชาวนาอพยพเข้ามาตั้งรกรากมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านและขนานนามว่า"หมู่บ้านนุมุง" ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า"อุบมุง" ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างคลุมรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธ์ ส่วนภูเขาลูกนั้นชาวบ้านได้เรียกกันว่า"ภูควายเงิน" เพื่อบอกเล่าถึงสถานที่และเป็นเกียรติแก่สัตว์ อันเป็นคุณที่เป็นเรี่ยวแรงให้เกิดความสำเร็จ ในการประกอบอาชีพและในทุก ๆ ปีเมื่อถึงวันขึ้น15 ค่ำเดือน 3 ทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชประจำปี ซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบอำเภอเชียงคาน รวมไปถึงชาวลาวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มาร่วมสักการะรอยพระพุทธบาทกันเป็นจำนวนมาก สำหรับสิ่งที่น่าสนใจ ในบริเวณวัดพระพุทธบาทภูควายเงินแห่งนี้ ก็คือรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยแตก แต่ไม่มีอักษรจารึกขนาดกว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ1 วา รูปลักษณะเหมือนรอยพระพุทธบาทจริง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าใหญ่พุทธฉัพรรณรังสีพระพุทธ รูปปูนปั้นสีขาวองค์ใหญ่และตามพระวรกายยังประดับด้วยกระจกเงาชิ้นเล็ก ๆ ให้ได้สักการะและสิ่งที่โดดเด่น สะดุดตาต่อผู้มาเยือนอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ปูนปั้นรูปควายเงินที่ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถทางเข้าวัดนั่นเอง มาเที่ยวเชียงคานทั้งทีลองหาโอกาสดี ๆ แวะมาเที่ยววัดพระพุทธบาทภูควายเงินทำบุญทำทานทำใจให้สงบกันดูบ้าง แล้วจะรู้ว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนอกจากจะได้อิ่มอกอิ่มใจกับวิวสวย ๆ อากาศดี ๆ แล้วยังได้อิ่มบุญกลับบ้านไปแบบเต็ม ๆ กันอีกด้วย

การเดินทาง

ตามเส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กม. ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กม. จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กม.
 
เครดิต :  https://1th.me/3vJbQ
 

 หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ

 
 ไทดำ บ้านนาป่าหนาด เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่ม หนึ่งที่เคยตั้งอยู่ในเมืองไทดำ บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเขตเวียดนามเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2425 สมัยสงครามฮ่อ และหลังจากสงครามยุติลง ไทดำส่วนหนึ่งจึงได้อพยพผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย และอาศัยอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด จังหวัดโดย ไทดำที่อพยพเข้ามายังที่แห่งนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นไทดำชนชั้นราชวงศ์แทบทั้งสิ้นอีกด้วย
เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง นอกจากการเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทดำที่สร้างมากว่าร้อยปีแล้วนั้น จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะกันก็คือ “หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ บ้านนาป่าหนาด หมู่ที่ 4 ที่นี่เราจะพบกับบ้านจำลองที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของชาวไทดำในอดีต โดยบันไดบ้านด้านหน้า จะขึ้นได้แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เมื่อขึ้นไปแล้วห้องแรกจะเป็นห้องของผีเรือน ผีปู่ย่า ที่ชาวไทดำนับถือ ถัดมาเป็นห้องโล่งและมีพื้นที่กว้างสุดในบ้าน ใช้สำหรับเป็นห้องนอน โดยในห้องนี้จะมีเตาไฟวางไว้ปลายเท้าของเจ้าบ้าน ถัดไปซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของตัวบ้าน จะเป็นที่ประกอบอาหาร โดยมีบันไดที่ใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับผู้หญิงชาวไทดำด้วย
นอกจากนี้บริเวณใต้ถุนบ้านที่ศูนย์วัฒนธรรม ยังมีกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำนั่งรวมตัวกันทำผ้าทอมือแบบโบราณ หลังจากการทำนา เพาะปลูก ให้ได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งไม่ควรพลาดชมเลยทีเดียว เพราะผ้าทอมือหรือที่ชาวไทดำเรียกว่า “ซิ่นนางหาญ” มรดกตกทอดที่ทำสืบต่อกันมากว่า 100 ปีนั้น มีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก

คำว่า “นางหาญ” ที่ชาวไท เรียกกันนั้น หมายถึงความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว นั่นเอง
นอกจากนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯแล้ว ยังมีผังตัวอักษรไทดำที่เขียนบันทึกไว้สำหรับให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา พร้อมทั้งซื้อหาของฝากฝีมือกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำ เช่น ผ้าทอมือ สบู่สมุนไพร ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากไหมพรมหลากสี ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนทางบ้านในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย
 

กิจกรรมเมื่อมาถึงหมุู่บ้านวัฒนธรรมชาวไทดำ
- การสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำ
- การเรียนรู้ตัวอักษร ภาษาไทดำ
- ชมวิถีชีวิตของชาวไทดำ
- ชมการสาธิตการทอผ้า
- บ้านจำลองที่สร้างตามแบบบ้านโบราณในอดีต

 
ที่อยู่ : ตำบล เขาแก้ว อำเภอ เชียงคาน ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย 42110

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only