22/10/63

สวนสาธารณะกลางกรุง

 

สวนวชิรเบญจทัศ

 สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่นิยมเรียกว่า สวนรถไฟ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีเนื้อที่กว่า 375 ไร่  มีเนื้อที่ติดกับสวนสาธารณะอีก 2 สวน คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนจตุจักร เดิมเคยใช้เป็นสนามกอล์ฟรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สร้างขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีมติให้สร้างสวนสาธารณะขึ้นในส่วนของพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชนทั่วไปและประชาชนในย่านใกล้เคียง โดยได้รับพระราชทานชื่อ สวนวชิรเบญจทัศ จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศในพระราชสถานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ 50 พรรษา
 
 
 
 

กิจกรรมในสวน

เลนจักรยาน สวนวชิรเบญจทัศ เป็นเลนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ รอบ ๆ สวน สำหรับผู้ที่นิยมขี่จักรยาน ซึ่งทางสวนฯมีบริการให้เช่าจักรยานสำหรับขี่ มีจักรยานให้เลือกขี่หลายแบบ  อัตราค่าบริการคันละ 20–60 บาท และคืนจักรยานภายในวันที่ยืม โดยไม่จำกัดเวลา

 

อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ เป็นอาคารที่จัดแสดงและเพาะเลี้ยงผีเสื้อและแมลงชนิดต่าง ๆ ขนาดเนื้อที่ 6 ไร่ โดยจัดภูมิทัศน์แบบธรรมชาติ ประกอบด้วยพรรณไม้ต่าง ๆ บ่อน้ำ ลำธาร น้ำตกเล็ก ๆ รวมทั้งพืชพรรณที่เป็นอาหารของผีเสื้อ ภายในตัวอาคารจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผีเสื้อ และด้านข้างจัดเป็นกรงจัดแสดงผีเสื้อมีชีวิตขนาด 1,168 ตารางเมตร 

เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าชม ทุกวันอังคาร–วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30–16.30 น. ปิดวันจันทร์ เริ่มเปิดทำการในปลายปี พ.ศ. 2547

สวนนันทนาการชุมชนสวนรถไฟ เป็นส่วนที่ให้บริการด้านกิจกรรมนันทนาการรูปแบบต่าง ๆ มีสระว่ายน้ำสำหรับเด็กที่ตกแต่งด้วยน้ำพุ สร้างความเพลิดเพลิน เปิดบริการ 6.00–20.00 น.

ค่ายพักแรม เป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมกลางแจ้งและตั้งค่ายพักแรมของเด็กนักเรียนเยาวชน

สวนป่าใหญ่ในเมือง เป็นสวนป่าจำลองระบบนิเวศวิทยาของป่าเพื่อทำกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติ เพื่อการเรียนรู้ สามารถเข้าถ่ายภาพได้

เมืองจราจรจำลอง เป็นสถานที่จำลองสิ่งก่อสร้างและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทยมารวมกันไว้ อาทิ สะพานพระราม 8, ภูเขาทอง, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น อีกทั้งยังใช้เป็นที่ฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการขับขี่ยวดยานและการจราจรแก่เด็ก ๆ และเยาวชน

ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ เป็นอาคารในพื้นที่ 30 ไร่ ที่เป็นศูนย์รวมของการเล่นกีฬาและออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ครบวงจร เช่น ห้องฟิตเนส, สระว่ายน้ำ, ห้องฝึกโยคะ, สนามเทนนิส, สนามฟุตซอล รวมถึงห้องบริการต่าง ๆ เช่น ห้องอาบน้ำ, ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว โดยสร้างขึ้นตามนโยบายของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับเป็นศูนย์กีฬาครบวงจรแห่งแรกในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยการใช้บริการของส่วนนี้ เสียค่าบำรุงสถานที่ปีละ 40 บาท

สวนปิกนิก ฟ้าใส ไม้สวย ด้วยแรงใจ ปตท.สผ. เป็นสถานที่พื้นที่กว่า 4 ไร่ ด้วยการสนับสนุนของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) สำหรับจัดปิกนิก เป็นลานร่มรื่น มีเตาปิ้งสำหรับปิ้งอาหารทานเองได้ และมีบึงน้ำขนาดใหญ่ให้เช่าเรือพายเล่น ราคาลำละ 50 บาท ต่อเวลาครึ่งชั่วโมง เปิดบริการ 7.00–21.00 น.

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ เป็นสาขาของสวนโมกขพลาราม สถานที่ปฏิบัติธรรมและค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับธรรมะ สร้างตามดำริของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 160 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เปิดอย่างเป็นทางการวันแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศูนย์อาหาร เป็นที่ตั้งของร้านค้าอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ต่าง ๆ อยู่บริเวณใกล้ทางเข้าด้านถนนวิภาวดีรังสิต เปิดให้บริการถึง 21.00 น. 

 

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

 


  ในปี พ.ศ. 2534 เพื่อจัดสร้างขึ้นเนื่องใน "วโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถครบ 5 รอบ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535" โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสวนสาธารณะในลักษณะสวนป่าที่มีความเป็นธรรมชาติ   สำหรับใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และเป็นสถานที่รวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ไม้ให้เป็น สวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์ ตลอดจนส่งเสริมวิชาการในการศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์และปลูกฝัง ทัศนคติในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของธรรมชาติแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
 

สวนลุมพินี


 
  สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานครและพระราชมรดกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้แก่ชาวพระนคร โดยมีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2468 ซึ่งทรงครองราชสมบัติครบ 15 ปี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์สรรพสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่นประเทศตะวันตกทำได้ผลมาแล้ว โดยกำหนดจัดในฤดูหนาวปลายปี พ.ศ. 2468 และมีพระราชดำริว่าเมื่อเลิกการจัดงานแล้ว สถานที่นั่นควรจัดทำเป็นสวนพฤกษชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน ทรงเลือกบริเวณทุ่งศาลาแดงที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากแบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว เป็นที่จัดงานและทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ ครั้งนั้นมีการขุดสระกว้าง สร้างเกาะลอยกลางน้ำ ตัดถนน และสร้างถาวรวัตถุ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก ทรงพระราชทานชื่อว่า สวนลุมพินี หมายถึง สถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล แต่ด้วยทรงเสด็จสวรรคตก่อนกำหนดเปิดงานจึงต้องล้มเลิกงานไป ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โครงการนี้จึงถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง โดยทรงให้เช่าที่ดินด้านใต้ของสวนลุมพินี 90 ไร่ จัดเป็น “วนาเริงรมย์” คล้ายสวนสนุก และนำค่าเช่ามาปรับปรุงที่ดิน ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะ นับแต่นั้น สวนลุมพินี จึงเป็นสถานที่ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนานแก่ประชาชน มีทั้งการละเล่น แข่งว่าว วิ่งวัว ชิงช้า ม้าหมุน โดยทรงพระราชทานที่ดินให้รัฐบาลดูแล และมีกระแสรับสั่งให้ใช้เพื่อสวนสาธารณะเท่านั้น ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนลุมพินีกลายเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น สวนแห่งนี้จึงลดบทบาทลง จนสงครามสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2495 – 2497 จึงถูกใช้เป็นที่จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญและมีการประกวดนางสาวสยาม บริเวณเกาะลอย
 
 
 

สวนเสรีไทย

 

 

เดิม “ บึงกุ่ม” หรือ “ บึงตาทอง” เป็นบึงสาธารณะเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่ถูกรุกล้ำจนมีสภาพตื้นเขิน ในปี พ.ศ. 2528 เริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนาบึงกุ่มตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ (โครงการแก้มลิง) ให้เป็นบึงรับน้ำจนสามารถรองรับน้ำได้ถึง 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ และระบายสู่คลองบึงกุ่ม ต่อเนื่องสู่คลองแสนแสบต่อไป ต่อมาได้มีการพัฒนาขยายพื้นที่ สร้างเป็นสวนสาธารณะ และสวนป่าตามโครงการสวนป่า กทม. เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539) ในชื่อว่า "สวนน้ำบึงกุ่ม"

 

 

ในปี พ.ศ. 2538 สมาชิกขบวนการเสรีไทย ได้ขอสถานที่ส่วนหนึ่งของสวนน้ำบึงกุ่มจัดเป็น “ลานเสรีไทย” และมีพิธีเปิดลานเสรีไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2538 ต่อมาคุณดุษฎี พนมยงค์ ซึ่งเป็นทายาทของหัวหน้าขบวนการเสรีไทย พร้อมคณะ ได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อ สวนน้ำบึงกุ่มเป็น “สวนเสรีไทย” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ขบวนการเสรีไทย และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งตรง กับวันครบรอบ 52 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

 

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542 กรุงเทพมหานครร่วมกับคณะกรรมการโครงการฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้ร่วมจัดงาน "วันสันติภาพไทย" เพื่อเป็นการรำลึกถึงการประกาศสันติภาพไทยในวาระครบรอบ 54 ปี และเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่ขบวนการเสรีไทยที่ได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงมีการก่อสร้าง "อาคารเสรีไทยอนุสรณ์" โดยจำลองแบบมาจาก "ทำเนียบท่าช้าง" หรือบ้านเลขที่ 19 ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทำเนียบท่าช้างจึงเป็นเสมือนกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพิธีเปิด "อาคารเสรีไทยอนุสรณ์" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546

 
 
 

สวนหลวง ร.9

 
 






 
สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ  จัดสร้างเพื่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในศุภมงคลสมัยเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ เป็นประธานออกแบบงานภูมิทัศน์ ส่วนหอรัชมงคลซึ่งจัดเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสวนหลวง ร.9 ได้รับการออกแบบโดย ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล ปัจจุบันมี หม่อมหลวงชนะพันธุ์ กฤดากร เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสวนหลวง ร.๙  
 

กิจกรรมในสวน

บริเวณเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยหอรัชมงคล และอุทยานมหาราช ภายในหอรัชมงคลจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และเครื่องใช้ส่วนพระองค์  

สวนพฤกษศาสตร์ เป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดสร้างสวนหลวง ร.9 แห่งนี้ เนื้อที่รวม 150 ไร่ มีการจัดพันธุ์ไม้หลักอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา และยังเป็นที่รวบรวมไม้พันธุ์ต่างๆ ของไทย รวมทั้งไม้ที่หายาก และสมุนไพรต่างๆ พร้อมทั้งสวนนานาชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ บริเวณนี้มีอาคารต่าง ๆ ดังนี้

 
  • หอพฤกษศาสตร์ เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้และเอกสารเกี่ยวกับพันธุ์ไม้
  • อาคารถกลพระเกียรติ เป็นที่ประชุม สัมมนาทางวิชาการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปี
  • อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย (จิโอเดสิกโดม) และภายนอกอาคารเป็นที่รวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • อาคารพันธุ์ไม้ในร่ม ภายในอาคารปลูกประดับด้วยไม้ในร่มนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีเรือนเฟิร์นและกล้วยไม้ สำหรับรวบรวมพันธุ์เฟิร์นและกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ

ตระพังแก้วเก็บน้ำ มีเนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่พักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณเมืองชั้นใน ใช้ประโยชน์เพื่อการกีฬาทางน้ำ ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์น้ำ มีบริการเรือพาย และจักรยานน้ำ

สวนรมณีย์ เนื้อที่ 50 ไร่ เป็นการจัดสวนเพื่อเลียนแบบธรรมชาติท้องถิ่น มีน้ำตก ลำธาร ตกแต่งด้วยวัสดุ พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และสัญลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ บริเวณนี้ยังมีสวนจีน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสวนเชิงผา

 

สวนน้ำ เนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้น้ำสวยงามหลากชนิดปลูกไว้ในลำธาร และบริเวณริมสองฝั่ง

สนามราษฎร์ และ ลานอเนกประสงค์ เนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ลานสนามกว้าง และเวทีกลางแจ้ง เป็นสถานที่จัดการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีและประกวดผลิตผลทางการเกษตร

อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำทั้งของไทย และต่างประเทศ

 

 

ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม ของทุกปี จะมีการจัดงาน งานพรรณไม้อร่ามสวนหลวง ร.9 จัดโดยมูลนิธิสวนหลวง ร.9 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร



สวนหลวงพระราม 8

 

 
 
สวนหลวงพระราม 8 มีขนาดพื้นที่ประมาณ 35 ไร่  อยู่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งทิศตะวันตก จัดเป็นที่ ๆ ที่มีบรรยากาศและทิวทัศน์งดงาม สามารถมองเห็นสิ่งก่อสร้างสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้หลายแห่ง เช่น ป้อมพระสุเมรุ, วังบางขุนพรหม, ยอดอาคารโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ฝั่งพระนคร และสะพานพระปิ่นเกล้า ได้อย่างชัดเจน มีจุดเด่น คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ที่ทางกรุงเทพมหานครสร้างร่วมกับกรมศิลปากร สูงขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง คือ ประมาณ 5.4 เมตร พระอิริยาบถทรงยืน ประดิษฐานบนแท่นที่ความสูงระดับเดียวกันกับราวสะพาน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สวนแห่งนี้ด้วย  พื้นที่นันทนาการริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ดาดแข็งตลอดแนวเพื่อรองรับการใช้งานจากคนจำนวนมากรวมทั้งยังเป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่สามารถใช้งานได้ในหลากหลายลักษณะ เช่น เดิน วิ่ง หรือนั่งเล่น จัดกิจกรรมในงานเทศกาล จัดงานแสดงต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำโดยตรง เช่น การชมขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งประกอบด้วย ศาลาพักผ่อน และท่าเทียบเรือ


สวนสันติชัยปราการ

 

สวนสันติชัยปราการ เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชนเมือง สร้างบนพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ บริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุ ซึ่งตั้งอยู่ที่ช่วงปลายถนนพระอาทิตย์ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบริเวณสวนมี พระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา

สวนแห่งนี้มีทัศนียภาพของคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามมาก นับเป็นสวนสาธารณะเพียงไม่กี่แห่งของกรุงเทพมหานคร ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมบรรยากาศริมแม่น้ำ และสามารถชมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินได้อย่างชัดเจน 

 


สวนสาธารณะสันติชัยปราการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และโบราณสถาน นับเป็นนันทนสถานเอนกประสงค์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอยทั้งด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา และการอนุรักษ์ (ป้อมพระสุเมรุ) พื้นที่โดยรอยได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายได้หลายประเภท เช่น การเต้นแอโรบิค รำมวยจีน สามารถเป็นสถานที่จัดงานของท้องถิ่นและรัฐบาล เช่น พิธีต้อนรับแขกจากต่างประเทศ รวมทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น พิธีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น

นอกจากตัวป้อมแล้ว ในบริเวณสวนแห่งนี้ยังมี “ต้นลำพู” ดั้งเดิมอันเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ต้นสุดท้ายที่ยังหลงเหลือไว้ให้ศึกษาอีกด้วย ที่อยู่มานานตั้งแต่ก่อนมีสร้างสวนและพระที่นั่งฯ แต่ทว่าในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ต้นลำพูต้นนี้ได้ตายลง ทางกรุงเทพมหานคร (ก.ท.ม.) ได้มาตัดทิ้งจนเหลือแต่ตอ

 

 

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสวนสาธารณะเนื้อที่ 28 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ระหว่างซอยจุฬาลงกรณ์ 9 กับถนนบรรทัดทอง ในพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน เชื่อมต่อกับแนวแกนกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ศูนย์การเรียนรู้ โดยอาคารต่าง ๆ จะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นอาคารสีเขียว มีประโยชน์ในการชะลอน้ำ  ออกแบบตามแนวคิด "ป่าในเมือง" ออกแบบให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง มีแนวพื้นที่รับน้ำ (rain garden) และระบบระบายน้ำใต้ดิน มีพื้นที่อเนกประสงค์ และที่จอดรถ 200 คัน  มีหลังคาเขียวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อุทยานเปิดในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปีพอดี 
 
 
 

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  หรือ สวนสมเด็จย่า เป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 4 ไร่ โดยมีสถานที่สำคัญใกล้เคียง คือ วัดอนงคารามและโรงเรียนสตรีวุทฒิศึกษา


โดยสถานที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของบ้านของพระชนกชูและพระชนนีคำ พระชนกและพระชนนีในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นสถานที่ประสูติและดำรงพระชนม์ชีพในช่วงทรงพระเยาว์ของพระองค์ท่าน 


ปัจจุบันอุทยานนี้เปิดดำเนินการเป็นสวนสาธารณะชุมชนและพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ในแง่มุมประวัติศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการเฉลิมพระเกียรติ โดยเป็นพื้นที่อนุรักษ์กลุ่มอาคารเก่า มีพระบรมราชานุสาวรีย์ทองแดงในพระอิริยาบถประทับนั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตรงทางเข้า, บ้านจำลองเมื่อครั้งทรงพระเยาว์, ศาลาทรงแปดเหลี่ยม มีจารึกแสดงถึงประวัติความเป็นมา และยังมีประติมากรรมนูนต่ำแสดงถึงพระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ, การดำเนินงานของแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนี (พอ.สว.) การจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน

 เครดิต : https://1th.me/jEqIG

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only