3/11/63

เที่ยวชมประวัติศาสตร์สุโขทัย


อุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง)



เพราะความลงตัวในงานอนุรักษ์ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ควบคู่ไปกับธรรมชาติที่เรียกกันว่า "ป่าเขาหลวง" นั้น ได้ส่งให้ที่นี่กลายเป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์แห่งแรกของเมืองไทย ที่เต็มไปด้วยน่าสนใจและควรค่าน่าศึกษายิ่งนัก โดยครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอคีรีมาศ และอำเภอบ้านด่านลานหอย มีพื้นที่ประมาณ 213,215 ไร่ ได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อุทยานแห่งชาติรามคำแหง เพื่อรำลึกถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างอดีตราชธานีไทยแห่งนี้ 

สภาพทั่วไป อุทยานแห่งชาติรามคำแหงมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นราบคล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่งนา 

มีขุนเขาที่สูงเด่นมองเห็นมาแต่ไกล คือ ยอดเขาหลวง ภายในอุทยานฯ มีสัตว์ป่า เช่น วัวแดง เก้ง หมี หมูป่า นกกระเต็น และนกนางแอ่น พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก ตะเคียน เต็ง รัง พืชสมุนไพร และว่าน มีน้ำตกที่สวยงาม และถ้ำต่าง ๆ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ 

สภาพอากาศบนยอดเขาหนาวเย็นตลอดปี มีเมฆหมอกปกคลุมมากในฤดูหนาวและฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยโดยประมาณ 12-14 องศาเซลเซียส ช่วงเวลาเหมาะสม ประมาณเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ น่าชมสำหรับคนชื่นชมธรรมชาติ

- เขาหลวง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน มียอดเขาสูงที่สุดอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย บนยอดเขามีทิวทัศน์ที่สวยงาม และปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมียอดเขา 4 แห่งที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ ยอดเขานารายณ์  ยอดเขาพระแม่ย่า  ยอดเขาภูกา  ยอดเขาพระเจดีย์  ระหว่างทางขึ้นยอดเขาหลวง คุณจะพบต้นไทรขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา มีลักษณะสวยงาม ดูแปลกตา เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อน หรือถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

- ปล่องนางนาค อยู่ห่างจากไทรงาม 320 เมตร มีลักษณะเป็นปล่องธรรมชาติอยู่บริเวณยอดเขา ที่มีความกว้างประมาณ 0.5 เมตร ยาวประมาณ 1.5 เมตร แต่ความลึกนั้นไม่สามารถวัดได้ ที่แห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับตามตำนานพระร่วงในพงศาวดารเหนือ ในห้วงเวลาที่เจ้าเมืองออกมาจำศีล

- สวนลุ่ม หรือ สวนลุมพินีวัน เป็นสวนว่านยาสมุนไพรอยู่ที่เชิงเขาหลวง ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาหลวง ภายในอุทยานฯ มีว่านและสมุนไพรหลายชนิด เช่น โด่งไม่รู้ล้ม หอมไกลดง นางคุ้ม หนุมานประสานกาย และกำลังเสือโคร่ง เป็นต้น

- น้ำตกสายรุ้ง ภาพที่สวยงามที่สุดของน้ำตกสายรุ้ง คือยามที่แสงแดดส่องลงมากระทบ สายน้ำตกทิ้งตัวลงมาจากผาหินสูงชัน เมื่อได้องศาพอเหมาะระหว่างแสงและละอองน้ำ คุณจะเห็นสายรุ้งพราวทอประกายขึ้นมา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าดูยิ่ง โดยช่วงเวลาที่มองเห็นสายรุ้งนี้มักขึ้นเกิดเวลา 11.00-16.00 น. ที่นี่เกิดจากต้นน้ำบริเวณเขาเจดีย์ จนกลายเป็นลำคลองไผ่นาไหลลงมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายในบริเวณมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง) ตัวน้ำตกมีทั้งหมด 4 ชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้ โดยต้องเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขึ้นไปตามธารน้ำในระยะทาง 800 เมตร 900 เมตร 1,160 เมตร และ 1,200 เมตร ตามลำดับ ที่นี่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง ห่างจากอุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง) 50 เมตร

- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้น โดยเริ่มจากที่ทำการอุทยานฯ ผ่านสวนสมุนไพร ป่าดิบแล้ง ไทรงาม ชั้นดิน และชั้นหิน เป็นต้น ไปสิ้นสุดที่น้ำตกหินราง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง มีการจัดทำป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ ไว้เป็นระยะ น่าชมสำหรับคนรักประวัติศาสตร์

- ประตูประวัติศาสตร์ 4 ประตูทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ คือ "ประตูป่า" อยู่ทางทิศเหนือของสวนลุ่ม หรือบริเวณที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ "ประตูมะค่า" อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูตั้งอยู่บริเวณเมืองหน้าด่าน "ประตูเปลือย" อยู่ทางทิศตะวันออกของสวนลุ่ม ตั้งอยู่บริเวณด่านตรวจของอุทยานฯ และ "ประตูพระร่วง" อยู่ทางทิศใต้ของสวนลุ่ม ซึ่งมีเรื่องเล่ามาว่าเป็นประตูที่พระร่วงเข้ามาเล่นว่าว ณ ที่แห่งนี้

- รอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่เชิงเขาถ้ำพระบาททำด้วยหินชนวนแกะสลักรอยมงคล 108 สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท อายุประมาณ 600 ปีเศษ

- ปรางค์เขาปู่จา ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนภูเขาลูกเล็ก ๆ ใกล้กับอุทยานฯ เป็นศิลปะเขมรสมัยบาปวน สร้างขึ้นสำหรับคนเดินทางเพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา มีอายุประมาณ 1,500 ปีเศษ

- ถ้ำพระนารายณ์ เป็นสถานที่ที่เคยพบเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ที่ผู้ค้นพบคิดว่าเป็นพระนารายณ์ ปัจจุบันถูกทุบทำลายจนหมดคงเหลือแต่ฐานเท่านั้น

- ถ้ำพระแม่ย่า เป็นเพิงหินขนาดใหญ่เคยเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นพระแม่ย่า ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ศาลพระแม่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย

- ถนนพระร่วง ถนนสายประวัติศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างเมืองกำแพงเพชรผ่านสุโขทัยจรดศรีสัชนาลัย ระยะทาง 123 กิโลเมตร เชื่อว่า ถนนสายนี้สร้างเมื่อ 700 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ และอาจถือว่าเป็นทางหลวงแผ่นดินสายแรกของประเทศไทย

 

ค่าเข้าชมและที่พัก 

ค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 

ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท 

นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการลูกหาบขึ้นยอดเขาหลวง ราคากิโลกรัมละประมาณ 15 บาท โดยสามารถติดต่อได้ที่อุทยานฯ 

สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน 3 หลัง พักได้ 6-10 คน ราคา 500 บาท/คืน และมีเต็นท์ให้เช่า ถ้านำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่ 30 บาท/คน/คืน 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตู้ ปณ. 1 อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 64160 โทร. 0 5591 000-1 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th - อุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ ราคา 1,200-4,500 บาท 

น่ารู้ 

- อุทยานฯ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดเขาหลวงหลัง เวลา 15.30 น. 

- นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปค้างแรมด้านบนควรเตรียมอาหารให้เพียงพอ 

- ก่อนการเดินทางนักท่องเที่ยวควรสำรวจความพร้อมทางร่างกาย และเตรียมอุปกรณ์สิ่งของจำเป็นไปด้วย เช่น เสื้อกันหนาว หมวก ไฟฉาย ยา และอาหารแห้ง เป็นต้น

 

 ที่อยู่ : อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตู้ ปณ. 1 อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 

เครดิต : https://1th.me/IGvIY

 

น้ำตกสายรุ้ง (อุทยานแห่งชาติรามคำแหง)


 ภาพที่สวยงามที่สุดของน้ำตกสายรุ้ง คือยามที่แสงแดดส่องลงมากระทบสายน้ำตกทิ้งตัวลงมาจากผาหินสูงชัน เมื่อได้องศาพอเหมาะระหว่างแสงและละอองน้ำ คุณจะเห็นสายรุ้งพราวทอประกายขึ้นมา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าดูยิ่ง โดยช่วงเวลาที่มองเห็นสายรุ้งนี้มักขึ้นเกิดเวลา 11.00-16.00 น. ที่นี่เกิดจากต้นน้ำบริเวณเขาเจดีย์ จนกลายเป็นลำคลองไผ่นาไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายในบริเวณมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง) ตัวน้ำตกมีทั้งหมด 4 ชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้ ต้องเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขึ้นไปตามธารน้ำในระยะทาง 800 เมตร 900 เมตร 1,160 เมตร และ 1,200 เมตร ตามลำดับ 

 

ที่อยู่ : อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง ห่างจากอุทยานแห่งชาติรามคำแหง (เขาหลวง) 50 เมตร

เครดิต : https://1th.me/fT1uH

 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยหรือเมืองเก่าสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัย เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ในอดีตนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีความยิ่งใหญ่มาก เป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา ซึ่งยังหลงเหลือหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าด้วยความภูมิใจ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (Sukhothai Historical Park) อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง 

ภายในอุทยานฯ มีสถานที่สำคัญอย่างพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส 

สถานที่น่าสนใจ (Sukhothai attractions) ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ กำแพงเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า กำแพงชั้นในเป็นศิลาแลงก่อบนคันดิน กำแพงสองชั้นนอกเป็นคูน้ำสลับกับคันดิน นอกจากทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกแล้ว คูน้ำยังใช้ระบายน้ำไม่ให้ไหลท่วมเมืองอีกด้วย ระหว่างกึ่งกลางแต่ละด้านมีประตูเมืองและป้อมหน้าประตูด้วย 

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ เป็นเจดีย์ประธาน รายรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์บนฐานเดียวกัน ด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้ม เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" 

วัดชนะสงคราม ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ใกล้กับหลักเมือง เดิมเรียกว่า วัดราชบูรณะ มีลักษณะเด่นคือ เจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน 

 

เนินปราสาทพระร่วง หรือ เขตพระราชวังในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกติดกับวัดมหาธาตุ 

วัดตระพังเงิน เป็นโบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ (คำว่า ตระพัง หมายถึง สระน้ำ) ห่างจากวัดมหาธาตุ 300 เมตร โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน 

 

วัดสระศรี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ และเป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีจุดชมทัศนียภาพสวยงามมากแห่งหนึ่ง สิ่งที่น่าชมในวัดนี้คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา 

วัดศรีสวาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ศิลปะลพบุรี ศาลตาผาแดง ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเขมรสมัยนครวัด ( พ.ศ. 1650-1700) ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลนี้แล้วได้พบชิ้นส่วนเทวรูปและเทวสตรี ประดับด้วยเครื่องตกแต่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง 

 


นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกกำแพงในแต่ละทิศที่น่าชม ได้แก่ 

- ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ตั้งอยู่หน้าวัดพระพายหลวง สถานที่ที่เป็นเหมือนประตูบานใหญ่ ก่อนพาคุณย้อนเวลาไปสู่ความเฟื่องฟูของสุโขทัย ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย 

- แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง บริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า "แม่โจน" เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นถ้วยชาม มีขนาดใหญ่หนา น้ำยาเคลือบขุ่น สีเทาแกมเหลือง และมีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร - วัดพระพายหลวง เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ - วัดศรีชุม เป็นที่ประดิษฐานพระอัจนะ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ตัววิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเดินเข้าไปภายใน และเมื่อเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ก็จะถึงผนังด้านข้างขององค์พระอัจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ทั้งนี้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่ลางเลือนไปมากแล้ว 

- วัดช้างรอบ อยู่ห่างจากประตูอ้อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร โบราณสถานสำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว จำนวน 24 เชือก 

- เขื่อนสรีดภงค์ หรือ ทำนบพระร่วง ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า เป็นคันดินกั้นระหว่างเขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายมา สร้างขึ้นเพื่อกักน้ำ และชักน้ำไปตามคลองสู่กำแพงเมืองไหลเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมือง และพระราชวังในสมัยสุโขทัย 

- วัดเชตุพน มีมณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขสร้างจากหินชนวนขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงที่เลียนแบบเครื่องไม้ 

- วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างไปประมาณ 100 เมตร สิ่งที่น่าสนใจ คือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบ ซึ่งปั้นเป็นรูปบุรุษและสตรีสวมอาภรณ์เครื่องประดับ ในมือถือภาชนะ มีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ 

- วัดสะพานหิน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ" โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก 

- วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว 

- วัดตระพังทองหลาง อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง มีมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัยเลยทีเดียว สถานที่น่าสนใจใกล้เคียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ที่กรมศิลปากรจัดตั้งขึ้นอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย


 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (Thailand Historical Park) ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย มีโบราณสถานจำนวนมาก และมีความสมบูรณ์สวยงาม วัดโสภาราม เป็นที่ประดิษฐานพระสุโขทัยองค์ใหญ่ สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติ (ทุ่งแม่ระวิง) เป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมองเห็นทิวทัศน์ได้สวยงาม ข้อมูลการเดินทาง โดยรถยนต์ จากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไปตามทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร โดยรถประจำทาง นั่งรถประจำทางหรือรถท้องถิ่น(คอกหมู)ของสุโขทัยได้ที่สถานีขนส่งสุโขทัย หรือ จากท่ารถในตัวเมืองสุโขทัย ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำยมไปราว 200 เมตร นั่งรถสองแถวสายเมืองเก่าออกทุก 20 นาที เวลา 06.00-18.00 น.

 

ที่อยู่ : เมืองสุโขทัย, สุโขทัย

เครดิต :  https://1th.me/Bt5TZ

 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

สำหรับคนรักประวัติศาสตร์ ที่นี่ล่ะใช่เลย! เพราะคุณจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ในบทหนึ่งแห่งสมัยสุโขทัยที่คนไทยภาคภูมิ ที่นี่ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย สำหรับเมืองโบราณศรีสัชนาลัยนั้น อยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย เดิมชื่อว่า "เมืองเชลียง" แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "ศรีสัชนาลัย" ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ น่าตื่นตาด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง และสำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง แต่ละแห่งล้วนจุคุณค่าแห่งอดีตกาลที่น่าเรียนรู้ น่าชม

- วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง หรือเรียกอีกชื่อว่าวัดพระปรางค์ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัยลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในเต็มไปด้วยโบราณสถานสำคัญมากมาย ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ทั้งบริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์สู่ซุ้มโถง สังเกตว่า ภายในพบรอยจิตรกรรมฝาผนัง แต่ค่อนข้างลบเลือนไปมาก 

ส่วนด้านหน้ามีวิหารประดิษฐาน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ทางขวามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลางดงาม ทางด้าน กำแพงวัดเป็นศิลาและแท่นกลมขนาดใหญ่ เรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 60 เมตร ยาว 90 เมตร เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูป คล้ายหลังคายอด และเหนือซุ้มขึ้นไปเป็น ปูนปั้นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

- พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญ โดยในการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ. 2535 ได้พบทองจังโกประดับส่วนยอดของเจดีย์ ทางด้านหลังมีมณฑปพระอัฎฐารศที่น่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลงใหม่อีกครั้ง ภายในซุ้มคูหามีพระพุทธรูปยืน เดิมมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา นอกจากนี้ยังมีวิหารพระสองพี่น้อง อยู่ทางซ้ายมณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์ อยู่บนแท่นพระ ทางขวาของพระวิหารพบฐานรอยพระพุทธบาท โบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้า ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม

- กุฏิพระร่วงพระลือ หรือ ศาลพระร่วงพระลือ มีลักษณะเป็นมณฑปที่มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง หลังคาทรงมณฑปก่ออิฐซ้อนกัน 4 ชั้น ภายในประดิษฐานรูปหล่อพระร่วงพระลือ (จำลอง)

- วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกำแพงเมือง โดดเด่นด้วยเจดีย์ประธานทรงกลมและมณฑปที่ก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม มีบันไดทางขึ้นสู่มณฑปที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี โดยสามารถขึ้นวัดได้ 2 ทาง ได้แก่ ทางด้านหน้าวัดแก่งหลวง และด้านข้างวัด ซึ่งทางขึ้นเป็นบันไดศิลาแลง

- วัดเขาสุวรรณคีรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกถัดจากเขาพนมเพลิงไปประมาณ 200 เมตร ที่นี่มีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง ฐานเขียงใหญ่ 5 ชั้น ใช้เป็นลานประทักษิณ มีซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน ตรงก้านฉัตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาในท่าเดินจงกรมรอบก้านฉัตรเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ด้านหลังเจดีย์ประธาน มีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง


- วัดช้างล้อม อยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ทางด้านหน้าเจดีย์ประธาน มีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไป คงเหลือเพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือเท่านั้น บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร ประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์ มีวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกจากนั้นเป็นวิหารขนาดเล็ก ๆ 2 หลัง และเจดีย์ราย 2 องค์ ทั้งนี้ วัดช้างล้อม ที่เมืองศรีสัชนาลัย ตัวช้างจะมีลักษณะที่เด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่น ๆ กล่าวคือ ยืนเต็มตัวแยก ออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้

- วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม จุดเด่นของวัดนี้คือเจดีย์แบบต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย และเป็นศิลปะแบบสุโขทัยและศิลปะศรีวิชัยผสมสุโขทัยโดยแท้ นับว่ามีความสวยงามมากกว่า วัดอื่นในสุโขทัยเลยทีเดียว โดยโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม อยู่ด้านหลังพระวิหาร และเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์ และบ่อน้ำ เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวแห่งนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า เหล่าเทวดา และกษัตริย์ ส่วนซุ้มจระนำด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย

- วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์เจ็ดแถวนัก มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป เจดีย์ประธานมีวิหาร และมุขด้านหน้า ส่วนด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง

- วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือ วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดช้างล้อม 200 เมตร กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านหลังวัด มีโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว วิหารมีซุ้มพระตั้งอยู่ด้านหลังลักษณะเป็นมณฑป หลังคามณฑปเป็นรูปโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย

- วัดนางพญา ตั้งอยู่แนวเดียวกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก โดยปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง เสาวิหารทุกด้านมีเทพนมและลวดลายต่าง ๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านใต้มีลวดลายปูนปั้น ลักษณะเด่นก็คือ ลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ทว่าถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังมีลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนมที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

- วัดชมชื่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารอยู่ด้านหน้า เจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลงขนาด 6 ห้อง มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ด้านหลังพระวิหาร เชื่อมต่อกับมณฑป คล้ายเป็นห้องทึบอยู่ท้ายวิหาร หลังคาใช้ศิลาแลงก่อ ให้เหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปจั่วแหลม ด้านหน้าทั้งสองข้างมณฑปทำเป็นซุ้มจระนำ 2 ซุ้ม ด้านหลังมีซุ้มจระนำ เดิมประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันด้านหลังมณฑป จากการขุดค้นบริเวณด้านหน้า พระวิหารพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 15 โครง ในระดับความลึก 7-8 เมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 ถึงสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 และได้พบกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ และพบเครื่องถ้วยเชลียงจำนวนมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงสมัยสุโขทัย 



 

ที่ตั้ง : ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร 

อุทยานฯ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท 

ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย และ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท 

หากนักท่องเที่ยวต้องการขอวิทยากรนำชม ติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130 โทร. 0 5567 9211

 

ที่อยู่ : ศรีสัชนาลัย, สุโขทัย

เครดิต :  https://1th.me/TnMsn

 

 

 

 

 



แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only