3/11/63

สถานที่สำคัญของอุดรธานี

 

ศาลหลักเมืองอุดรธานี



 

ตามประวัติกล่าวว่า ศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้นสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 มาสถิตย์ ณ เสาหลักเมืองนี้ด้วย 

องค์เสาหลักเมืองทำขึ้นด้วยไม้คูณยาว 5 เมตรเศษ และฝังลึกลงไป 3 เมตร มีการบรรจุแผ่นยันต์และแก้วแหวน เงิน ทองต่าง ๆ เป็นจำนวนมากไว้ใต้ฐานเพื่อเป็นสิริมงคล 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป ตัวอาคารของศาลหลักเมือง จะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ผสมผสานศิลปะแห่งภาค อีสาน ให้เป็นที่สักการะขอพรของชาวอุดรธานีสืบมา 

นอกจากนี้บริเวณศาลหลักเมืองยังมีรูปปั้นท้าวเวสสุวัณ 1 ใน 4 ของท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองเหล่าอสูร และศาลหลักเมืองหลังใหม่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามาสักการะศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้น สามารถบูชาและกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 ได้ในหนเดียว

 

ที่อยู่ : ถนนพรานพร้าว เมืองอุดรธานี, อุดรธานี

เครดิต :  https://1th.me/DSY6J

 

ศาลเจ้าปู่-ย่า




 

 

 ศาลเจ้าปู่-ย่า ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟใกล้ตลาดหนองบัว ถนนนิตโย เป็นศาลเจ้าของชาวจีนที่ใหญ่โต และสวยงาม มีสวนหย่อมริมหนองบัว บริเวณโดยรอบศาลชมวิวกลางน้ำ 2 หลัง บรรยากาศร่มรื่น และในศาลเจ้าปู่-ย่า แห่งนี้ยังเป็นที่เก็บรักษามังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี 

เคล็ดลับการกราบไหว้ขอพร นอกจากการกราบไหว้ด้วยธูป 30 ดอกแล้ว การกราบไหว้ศาลเจ้าปู่-ย่า ต้องถวายส้ม 4 ลูก พอกราบไหว้ครบทั้ง 6 จุดแล้ว ให้เดินไปที่สะพานเก้าเลี้ยวเชื่อกันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อสวรรค์ และรับรู้ว่าขอพรอะไรไป เสร็จแล้วให้มากราบลาศาลปู่-ย่า พร้อมเอาส้มกลับมา 2 ลูก 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งแรกที่ควรแวะมาสักการะยังศาลเจ้าแห่งนี้ ได้แก่ "ทีตีแป่บ้อ" เรียกสั้น ๆ ว่า "ทีกง" หรือ ชื่อในภาษาไทย คือ "ศาลเทพยดาฟ้าดิน" ซึ่งเป็นการกราบไหว้สักการะสวรรค์ หรือเหล่าเทพยดาที่อยู่บนสรวงสวรรค์นั่นเอง (ตามวัดจีน หรือ ศาลเจ้าจีน จะมี "ทีตีแป่บ้อ" อยู่เสมอทุกที่) เสาทีกง จะจัดสร้างขึ้นในกรรมการสมัยที่ 51 (พ.ศ. 2544) โดยมีความสูง 14.4 เมตร 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สอง คือ "ปึงเถ่ากงม่า"หรืิอ ชื่อภาษาไทย คือ"เจ้าปู่เจ้าย่า" สร้างในกรรมการสมัยที่ 41 (พ.ศ. 2534) โดยภายในศาลจะมีรูปบูชา "เจ้าปู่เจ้าย่า" อยู่ภายในซึ่งลูกหลานชาวอุดรส่วนใหญ่จะมากราบไหว้เพื่อขอพรในความเป็นสิริมงคลอยู่เสมอ ในความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากขอสิ่งใดมักสมปราถนาตามที่ขออยู่เสมอ 



สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สาม คือ ศาลเจ้าพ่อหนองบัว เนื่องจากที่ตั้ง ของ ศาลเจ้าปู่ย่านั้น ตั้งอยู่ริมหนองบัวหรือในปัจจุบันมีการสร้างสวนสาธารณะหนองบัวขึ้นวึ่งก็ได้มีการอัญเชิญเจ้าพ่อหนองบัวมาสถิตย์อยู่ภายในบริเวญศาลเจ้าปู่ย่า ตามความเชื่อตั้งแต่การก่อตั้งศาลเจ้าปู่ย่าขึ้นใหม่ ๆ 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สี่ คือ "ตี่จู๋เอี๊ย" หรือ ชื่อภาษาไทย คือ เจ้าที่เจ้าทางซึ่งก็คือสิ่งศกดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาดูแลสถานที่นั้น ๆ ได้แก่บริเวณศาลเจ้าปู่ย่า และ บริเวณหนองบัวนั่นเอง 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ห้า คือ พระสังกัจจายน์ ซึ่งได้ขุดพบใต้ต้นไทรในบริเวณศาลเจ้าปู่-ย่า เมื่อ พ.ศ. 2530 (คณะกรรมการสมัยที่ 37) 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งที่หก คือ "ฉั่งง่วนส่วย" เป็นองค์เทพที่เชี่ยวชาญในการปราชญ์เป็นอย่างยิ่ง เป็นที่นิยมสักการะของนักเรียน นักศึกษา ในการจะไปสมัครสอบครั้งสำคัญแต่ละครั้ง

 

ที่อยู่ : ถนนนิตโย เมืองอุดรธานี, อุดรธานี

เครดิต : https://1th.me/Fyspp

 

ทะเลบัวแดงหนองหาน-กุมภวาปี

 


หนองหาน-กุมภวาปีอยู่ใกล้วัดบ้านเดียม หมู่ที่ 5 ตำาบลบ้านเดียม เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 36 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยพันธุ์ปลา นก และพืชน้ำจำนวนมาก 

มีระบบนิเวศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่สนใจของนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มาศึกษา ค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี  ดอกบัวแดงในหนองหานจะงอก จากน้ำ แตกใบ และเริ่มออกดอกตูมและบาน โดยใน เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่สวยงามที่สุด 


 ที่อยู่ : หมู่ที่ 5 ตำาบลบ้านเดียม กุมภวาปี, อุดรธานี

เครดิต : https://1th.me/5CwdA

 

วัดป่าภูก้อน

วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย 

กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์ 


จากนั้นท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธานและขวัญกำลังใจในการก่อสร้าง และได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 ต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น 'วัดป่าภูก้อน' ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 เพื่อรักษาบริเวณวัดให้คงสภาพป่าอย่างสมบูรณ์ คณะศรัทธาจึงพยายามอย่างหนักที่จะขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่โดยรอบวัดด้วย ด้วยความเมตตากรุณาเป็นที่สุดของผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณหลายท่านในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ ท่านปลัดเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านปลัดจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านปลัดอนันต์ อนันตกูล ท่านอธิบดีจำนงค์ โพธิเสโร ที่เห็นคุณค่าของป่าและความตั้งใจจริงของคณะศรัทธาที่จะรักษาป่า จึงได้สนับสนุนช่วยเหลือจนเป็นผลสำเร็จ จนในที่สุดในวันที่ 22 มิถุนายน 2531 ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อจัดตั้งพุทธอุทยานมีเนื้อที่ 1,000 ไร่ และได้รับขนานนามว่า 'พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน' ภายหลังยังได้รับความสนับสนุนจากอธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมชลประทาน ท่านต่อ ๆ มา ตลอดจนท่านผู้ใหญ่ในกรมตำรวจ กองทัพบก กองทัพอากาศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การโทรศัพท์ อีกหลายท่าน วัดป่าภูก้อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 7 มิถุนายน 2532 คณะศรัทธาจึงได้พร้อมใจกันจัดงานฝังลูกนิมิต โดยได้รับเกียรติจากท่านจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีตัดลูกนิมิตและผูกพัทธสีมา ณ วัดป่าภูก้อน เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2533 และรวบรวมปัจจัยในงานจัดตั้งมูลนิธิ 'ปิยธรรมมูลนิธิ' ขึ้น เพื่อเกื้อกูลพระภิกษุสามเณรในวัดและงานสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ในท้องถิ่น พุทธอุทยานแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ธุดงควัตรของพระนวกะ จากโรงเรียนนายร้อยทั้ง 4 เหล่าทัพ ซึ่งอุปสมบทในภาคฤดูร้อน โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดเกล้าฯ บรรพชาที่วัดบวรนิเวศฯ แล้วประทานอนุญาตให้มาอบรมกรรมฐานที่วัดป่าภูก้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกันมา 


ปัจจุบันนี้วัดมีศาลาอุโบสถ 2 ชั้น 1 หลัง ซึ่งเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ชั้นบนและเป็นที่ฉันชั้นล่าง มีกุฏิพระ 45 หลัง เรือนครัว 1 หลัง เรือนพักฆราวาส 6 หลังถังเก็บน้ำคอนกรีต 20 ถัง และห้องน้ำจำนวนมาก โดยใช้ระบบประปาภูเขา จากฝายเก็บน้ำดินขนาดเล็กที่เป็นแหล่งต้นน้ำซับและน้ำตกในวัด ซึ่งต่อมากรมชลประทานได้บูรณะถวายให้แข็งแรงถาวรในปี 2538 และวัดยังได้ต่อระบบประปาไปถึงหมู่บ้านนาคำที่อยู่ห่างจากวัดไป 4 กม. เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้อย่างสะดวกและสะอาด 

ในปัจจุบันนี้ วัดป่าภูก้อนดำรงคงอยู่ด้วยความสมดุลของป่าไม้ที่ทวีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นทุกคืนวัน โดยบุคคลผู้มีความศรัทธาและระลึกคุณของสรรพสิ่งทั้งหลายของชาติและแผ่นดินอันเป็นที่กำเนิดแห่งชีวิต โดยมีคุณพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องสำนึก และมีพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคนควรทดแทน เป็นกำลังใจส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบให้ดำรงปฏิปทาของพระป่ากรรมฐานเพื่อบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนถึงที่สุด 

สอบถามข้อมูล ได้ที่สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

ที่อยู่ : ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

เครดิต : https://1th.me/a4haM


วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดป่าบ้านจิก)

วัดทิพยรัฐนิมิตรหรือวัดบ้านจิก เป็นวัดที่เก่าแก่ตั้งอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนนเรศวรกับ ถนนทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมือง อุดรธานี บริเวณนี้คือ "คุ้มบ้านจิก" เมื่อท่านเดินทางเข้าประตูมาก็จะสังเกตุเห็นว่ายังมีรั้วอิฐเตี้ย ๆ กั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง แบ่งวัดออกเป็นสองตอน ตอนนอกมีพื้นที่น้อยกว่าตอนในมาก ตอนนอกนี้เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์เก่า ซึ่งรื้อถอนออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2533 ส่วนตอนในนั้นมีพื้นที่มากกว่า มีสระน้ำติดรั้วหนึ่งสระ เมื่อมองผ่านเลยไปทางด้านซ้ายของสระน้ำก็จะเห็นโรงครัวและกุฏิแม่ชีปลูกเรียงรายกันไปตามแนวรั้วด้านทิศเหนือ ระหว่างสระน้ำและกุฏิแม่ชีจะมีถนนคอนกรีตทอดตัวยาวมุ่งตรงสู่ศาลายักษ์คู่ ซึ่งเป็นศาลาการเปรียญเก่าที่มีรปูปั้นยักษ์ 2 ตน ยืนเฝ้าอยู่ข้างหน้าศาลา ศาลานี้หลวงปู่เคยใช้เป็นสถานที่ฉันภัตตาหารเช้าของคณะสงฆ์ตอนบ่ายใช้เป็นสถานที่อบรมสั่งสอน ญาติโยมให้ฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนาในสมัยที่ยังไม่มีโบสถ์ใหม่ 

 


เมื่อหันมาทางด้านขวาของสระน้ำจะเห็นโบสถ์ใหม่ตั้งตระหง่านสง่างามมีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างสมัยสุโขทัยและ อยุธยาสวยงามมาก ปัจจุบันจะหาชมโบสถ์ที่มีศิลปะแบบผสมนี้ได้ยาก และถัดจากโบสถ์ใหม่ไปทางซ้ายมือจะเห็นวิหารคต ภายในจะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตั้งแต่ปางประสูติ ตรัสรู้ จนถึงปาง ปรินิพพาน วิหารคตนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ในการฉันภัตตาหารเช้าในปัจจุบัน เลยวิหารคตไปทางซ้ายจะมีกุฏิพระเรียงรายตามแนวรั้วด้านทิศใต้ และช่วงระหว่างกุฏิพระกับวิหารคตยังมีสระน้ำกันอยู่อีกหนึ่ง สระ 

ส่วนถนนที่กั้นอยู่สระน้ำแรกกับโบสถ์ใหม่นั้นจะนำเราไปถึงกุฏิหลวงปู่ซึ่งด้านหลังของกุฏิหลวงปู่ยังมีสระน้ำอีกหนึ่งสระ พระประธานภายในอุโบสถ พระพักตร์มีรอยยิ้มดูอ่อนโยน เมตตา พระเนตรทอดต่ำ เหมือนกับจะก้มลงมองดูพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการท่าน ผู้ที่มาสวดมนต์บำเพ็ญเพียรภาวนาที่โบสถ์นี้ประจำทุกค่ำเช้ามักจะพูดกันว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้เวลากลางคืนมองดูแล้วเสมือนหนึ่งท่านหลับพระเนตรลง และในตอนเช้า-กลางวันจะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้น และบางคนก็ว่า ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจภาวนาจะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้นมองดู 

สอบถามข้อมูล ได้ที่สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

 

ที่อยู่ : ถนนทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมือง อุดรธานี

เครดิต : https://1th.me/Fn88e

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only