8/1/64

สถานที่สำคัญของบึงกาฬ

 วัดอาฮงศิลาวาส


วัดอาฮงศิลาวาส (แก่งอาฮง) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บ้านอาฮง ตำบลไคสี เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าก่อตั้งเมื่อใด สันนิษฐานว่าแต่ก่อนเคยเป็นวัดป่า ปัจจุบันมีการบูรณะสิ่งก่อสร้างภายในวัดขึ้นมาใหม่ บริเวณวัดกว้างขวางและสวยงาม ในพระวิหารประดิษฐาน “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” หล่อด้วยทองเหลือง ลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราช มีความเชื่อกันว่าลำน้ำโขงบริเวณหน้าพระอุโบสถของวัดเป็นจุดที่ลึกที่สุดในแม่น้ำโขง หรือเรียกว่า “สะดือแม่น้ำโขง” เคยมีการวัดโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไปได้ลึกถึง 200 เมตร ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ เมื่อรูปกรวยแตกจะมีเสียงคล้ายกระแสน้ำไหลเซาะโขดหินแล้วค่อย ๆ หายไป เมื่อกระแสน้ำเชี่ยวมาอีกก็จะก่อตัวขึ้นใหม่เกิดสลับกันตลอดทั้งวัน ส่วนหน้าแล้งในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะมองเห็นเกาะแก่งกลางน้ำชัดเจน ตามตำนานเล่าสืบต่อกันว่าบริเวณสะดือแม่น้ำโขง จะมีถ้ำใต้น้ำและโขดหินใหญ่อยู่บริเวณทางฝั่งประเทศลาวตรงข้ามกับวัดอาฮงศิลาวาส เป็นที่ชุมนุมของเหล่าพญานาคในวันออกพรรษา เพื่อทำบุญบั้งไฟเป็นพุทธบูชาร่วมกับมนุษย์ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ละปีบริเวณนี้มีบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นจำนวนมาก และในบริเวณวัดมีรูปปั้นของเทพธิดาสะดือแม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านนิยมมาบนบานศาลกล่าวให้ได้โชคลาภและสมหวังในความรัก นอกจากนี้บริเวณแก่งอาฮง มีโขดหินมากมายและถ้ำใต้น้ำ จึงมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่มีปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชุกชุมอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย การเดินทาง จากตัวเมืองบึงกาฬ ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 เส้นทางไปจังหวัดหนองคาย ห่างจากตัวเมือง 21 กิโลเมตร

 

ที่อยู่ : บ้านอาฮง เมืองบึงกาฬ, บึงกาฬ

เครดิต : http://1ab.in/GUt

 

ศาลเจ้าปู่ย่า

ใกล้ๆกับถนนเลียบริมแม่น้ำโขงตรงจุดที่เราไปดูหาดทรายขาวมา เราสามารถมองเห็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ศาลเจ้าปู่ย่า” ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ชาวไทยเชื่อสายจีนในตัวเมืองจังหวัดบึงกาฬ กราบไหว้นับถือกัน ภายในศาลเจ้าปู่ย่าตกแต่งสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมจีน มีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปอย่างแน่นอน

 

ที่อยู่ : เมืองบึงกาฬ, บึงกาฬ

เครดิต : http://1ab.in/GTK


วัดป่าบ้านพันลำ

วัดป่าบ้านพันลำ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บ้านพันลำ ตำบลวิศิษฐ์ บริเวณโดยรอบโอบล้อมด้วยผืนป่า เป็นวัดมหานิกาย มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ หลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปปางประทานพร แกะสลักจากหิน หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ทางวัดมีการจัดอบรมการปฏิบัติธรรมให้กับพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ประชาชนทั่วไป และในช่วงหน้าแล้งจะปรากฏหาดทรายบริเวณหน้าวัดที่ติดริมแม่น้ำโขง พระอาจารย์เจ้าอาวาสจะนำผู้ปฏิบัติธรรมลงไปเดินจงกรมบนหาดทราย เป็นภาพที่น่าประทับใจ ต่อมาทางวัดจึงจัดให้มีการปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 7 วัน ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี การเดินทาง จากตัวเมืองบึงกาฬ ใช้ถนนสายบึงกาฬ-บ้านพันลำ เลยด่านศุลกากรบึงกาฬไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบวัดตั้งอยู่ริมถนนทางขวามือ


ที่อยู่ : 101 หมู่ 2 เมืองบึงกาฬ, บึงกาฬ

เครดิต : http://1ab.in/GTL

 

วัดสว่างอารมณ์

วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่บริเวณลานหินเนินเขา บรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีลำธารเล็กไหลผ่าน เป็นวัดที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีอุโบสถเป็นรูประฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่ เป็นจุดชมทิวทัศน์ความสวยงามของแม่น้ำโขง และที่ใต้ก้อนหินใหญ่เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพาน 

มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ท้าวศรีธน เป็นโอรสของพระเจ้าอาทิตยวงศ์แห่งเมืองปัญจานคร ท้าวศรีธน ออกติดตามหานางมโนราห์ ซึ่งเป็นมเหสี พอมาถึงถ้ำฤาษีกัสสปะ จึงได้หยุดที่นี่เพื่อเรียนวิชาอาคม เผื่อไว้ใช้ในยามจำเป็น พระองค์รำพึง "เรามีความชำนาญแต่ด้านยิงธนู ควรที่จะเรียนวิชาอาคมอื่นเพิ่มเติม" หลังจากเรียนอาคมจบ พระองค์อยากทดลองอาคมของตน จึงเดินไปหลังถ้ำ เลือกก้อนหินเป็นเครื่องมือทดลอง พระองค์ใช้อาคมที่เรียน เสกใส่ดาบ พอท่องมนต์จบ ก็เงื้อดาบฟันบนก้อนหินสามครั้ง ทำให้เกิดเสียงดังสนั่นทั่วอาณาบริเวณ ผลปรากฏว่า หินก้อนนั้นขาดเป็นสามท่อน ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จากนั้น พระองค์ก็ลาพระฤาษีกัสสปะ เพื่อตามหามเหสีผู้มีค่าเท่าชีวิต จนไปพบที่เมืองภูเงินแห่งเขาไกรราช ต่อมาพระองค์กับมเหสีมโนราห์ได้กลับมาปกครองเมืองปัญจานครต่อจากพระราชบิดา ด้วยความผาสุก จนสิ้นสมัยของพระองค์ ฉากสถานที่ของตำนานท้าวศรีธน ก็คือ ที่ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด และตำบลโพนแพง อำเภอรัตนวาปี ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แสดงให้เห็นพลังแห่งความรัก แม้จะมีอุปสรรคขวางกั้น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณถ้ำดังกล่าวว่า "ถ้ำศรีธน" เพราะมีร่องรอยตามตำนานท้าวศรีธนปรากฏอยู่ เมืองเปงจานนคร หรือเมืองปัญจานคร อยู่ห่างจากถ้ำศรีธนประมาณ 10 กิโลเมตร


ที่อยู่ : หมู่ 1 ปากคาด, บึงกาฬ

เครดิต : http://1ab.in/GTO

 

หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม

หลวงพ่อพระใหญ่อันประดิษฐาน ณ ที่วัดโพธารามแห่งนี้ นับเป็นหลวงพ่อคู่บ้านคู่เมืองของชาวบึงกาฬมาแต่ช้านาน หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธารามตั้งอยู่ที่วัดโพธาราม บ้านท่าใคร้ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยโบกฉาบด้วยปูน สูงประมาณ 2 เมตรหน้าตักกว้าง 2 เมตรจากพระฌานุ(เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระฌานุ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 เหยียดลงอย่างมีระเบียบเหมือนพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไปประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี 2537 นี้ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองบึงกาฬที่ตั้งโบราณ 

ชาวบึงกาฬจัดงานสมโภชช่วงวันเพ็ญเดือน 3 และช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามตำนานและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่หลายรุ่น หลายสมัยเล่าสืบต่อกันมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว จนถึงยุคสมัยหลัง ๆ ซึ่งแต่ก่อนคนเหล่านี้ส่วนมากได้อพยพครอบครัวมาจากเมืองยศ ซึ่งในปัจจุบันก็คือจังหวัดยโสธร มาตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขงและร่นขึ้นมาทางเขตชัยบุรี หรืออำเภอบึงกาฬในปัจจุบัน การตั้งถิ่นฐานอยู่นั้นก็เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย คือที่ใดไม่เหมาะสมในการดำรงชีวิต ต้องประสบกับภัย และมีการระบาดของโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวา โรคไข้ฝีดาด ถูกรบกวนจากสัตว์ร้ายหรือภูตผีปีศาจต่าง ๆ ก็พากันหลบหนีภัยย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ เพื่อหาที่เหมาะสมต่อไป ชนกลุ่มนี้ก็เหมือนกันย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ เพื่อหาที่เหมาะสม จนถึงบ้านท่าใคร้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นเป็นที่เหมาะสมดีก็ตกลงใจกันตั้งหลักฐานที่จะหากินในบริเวณนี้จากนั้นต่างก็จับจองพื้นที่หากินแล้วเริ่มขยายอาณาบริเวณไปเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณที่รกทึบที่สุดเป็นป่าดงดิบ มีไม้นานาพันธุ์ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้สัก ไม้ไผ่ป่า ขี้นอยู่อย่างหนาแน่นและเต็มไปด้วยสัตว์ป่าหลายชนิด ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นป่ารกทึบมากชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบ ๆ จึงได้ร่วมกันในการถากถางเพื่อจะได้มีพื้นที่มากขึ้น หลังจากที่ได้ทำการถากถางอยู่เป็นเวลาหลายวันก็พบพุ่มไม้ที่สูงและหนากว่าที่อื่น ๆ เมื่อถางป่าดังกล่าวออกก็พบพระพุทธรูปเดิมที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์พันรอบองค์อยู่ จึงได้นำเถาวัลย์ออก แล้วปัดกวาดบริเวณรอบ ๆ ก็พบว่าพระเกตุมาลาของหลวงพ่อหักเพราะถูกช้างป่ากระชากเถาวัลย์ลงมาเพื่อหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และเห็นเป็นรูปร่างของสถานที่บำเพ็ญบุญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา อีกทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่างองค์พระพุทธรูปนั้นตั้งแต่ได้พบมาถึงปัจจุบัน ไม่เคยเคลื่อนย้ายหรือ ต่อเติมแต่อย่างใด เพียงแต่ต่อพระเกตุที่หักให้คงสภาพเดิม มีเพียงแท่นที่ประดิษฐานเท่านั้นที่สร้างโอบแท่นเดิม เพื่อให้มีความมั่นคงขึ้นยิ่งกว่าเดิม และมีผู้ที่มาขอพรจากหลวงพ่อเมื่อได้สมความปรารถนาแล้วก็ได้นำสีทองมาทาสมโภชหลวงพ่อ จึงทำให้องค์หลวงพ่อเหลืองอร่ามเป็นสีทองทั้งองค์

 

ที่อยู่ : หมู่ 5 บ้านท่าไคร์ เมืองบึงกาฬ, บึงกาฬ

เครดิต : http://1ab.in/GTS

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only