วัดอโศการาม
ความหมายของอโศการาม คือแหล่งรื่นรมย์ไร้ความเศร้าหมอง ซึ่งพื้นที่รวม 53 ไร่ ที่ได้มีผู้ศรัทธาถวายเป็นธรรมทานแก่วัด สมดังนัยยะของชื่อที่ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เจ้าอาวาสองค์แรกได้ตั้งเอาไว้ เมื่อร่มรื่นในธรรมด้วยเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานตามหลักอานาปานสติกัมมัฏฐานะ ก็ต้องร่มรื่นในธรรมชาติจากสวนป่าโกงกาง ลำพูและปลงทองที่แทงยอดแตกใบสร้างร่มเงาแก่วัดสำคัญแห่งจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งอีกนัยหนึ่งเป็นพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดียผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนามายังเอเชียภายในวัดยังมีธรรมสถานที่ช่วยลบความเศร้าหมองในจิตใจได้เป็นอย่างดี เช่น พระธุตังคเจดีย์เจดีย์หมู่ 13 องค์ที่อ้างอิงสัญลักษณ์แห่งธุดงควัตร 13 ข้อ เจดีย์ทุกองค์มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบเงิน ทองและนาก และยังมีวิหารวิสุทธิธรรมรังสี อาคารจตุรมุข 3 ชั้น ยอดมณฑปปิดทองคำบริสุทธิ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง รูปหล่อหลวงพ่อปู่มั่น ภูริทตฺโต และสรีระของท่านพ่อลี ธมฺมธ ตามด้วยพระอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อศรีสมุทร พระพุทธรูปปางสมาธิเนื้อทองเหลืองปิดทองคำอร่าม นับเป็นอารามสำหรับผู้ใฝ่หาความสงบในธรรมและธรรมชาติ ตามปณิธานของเจ้าอาวาสผู้สร้างวัดใน พ.ศ. 2505 เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2389 2299 หรือเว็บไซต์ www.watasokaram.org
ที่อยู่ : 136 หมู่ 2 ซอยเทศบาลบางปู 60 ถนนสุขุมวิทสายเก่า เมืองสมุทรปราการ, สมุทรปราการ
เครดิต : http://1ab.in/OSl
วัดพิชัยสงคราม
เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดนอก หรือวัดโพธิ์ เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 3 กรุง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อพระยาพิชัยสงครามนำกำลังพลมาสร้างป้อมปราการ 4 ป้อมภายในเขตวัด ได้แก่ ป้อมประโคนชัย ป้อมกายสิทธิ์ ป้อมนารายณ์ปราบศึกและป้อมปราการและเมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จพระราขดำเนินทอดผ้าพระกฐินที่วัดแห่งนี้ ทรงเฉลิมพระนามวัดนอกเสียใหม่ว่า วัดพิชัยสงคราม แม้ป้อมปราการอันเป็นหลักฐานการสู้รบในกาลก่อนได้ถูกรื้อถอนไปจนหมดสิ้น คงเหลือแต่ชื่อที่นำมาตั้งเป็นชื่อถนนสายต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนี้ชัยภูมิที่ตั้งของวัดนอกยังเหมาะสมยิ่ง เมื่อด้านหน้าวัดคือตลาด และฝั่งตรงข้ามคือพระสมุทรเจดีย์ จึงเดินทางไปชมสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาอันงดงามได้สะดวกยิ่ง ทั้งพระเจดีย์ทรงเครื่อง ก่อสร้างเป็นรูปทรงระฆังประดับถ้วยชามเบญจรงค์ มีสร้อยสังวาลย์คล้องเป็นลายปูนปั้น และบัวกลุ่มปูนปั้นประดับรอบเจดีย์ 3 ชั้น ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังหลงเหลือเค้าความสง่างาม จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ขณะที่พระอุโบสถหลังใหม่ทรงปราสาทจัตุรมุขก็งดงามอ่อนช้อย สะท้อนศิลปะและสถาปัตยกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ได้ดีเยี่ยม เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 0 2389 2895, 0 2395 1637 หรือ เว็บไซต์ www.watphichaisongkram.com/home
ที่อยู่ : 29 ถนนประโคนชัย เมืองสมุทรปราการ, สมุทรปราการ
เครดิต : http://1ab.in/OSe
วัดป่าเกด
วัดโบราณในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อคราวที่ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วประเทศ เดิมชื่อ "วัดถนนเกด" ซึ่งในรัชกาลต่อมา สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นประธานร่วมกันกับกรมหมื่นเจษดาบดินทร์ วังหน้าในรัชกาลที่ 2 ได้ร่วมกันสร้างอุโบสถวัดป่าเกดโดยใช้ฝีมือช่างหลวงจากช่างสิบหมู่วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมารผจญ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์และทศชาติ และโดดเด่นด้วยหน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคล้อมรอบลายเครือเถาวิจิตรงดงามด้านหน้าและด้านหลังมีเสาเหลี่ยมปลายสอบขนาดใหญ่ ภายในวัดยังมีวิหารหลวงพ่อโต พระประธานปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำแล้วต่อมาจึงสร้างอุโบสถหลังนี้ขึ้น แม้สถาปัตยกรรมและจิตรกรรมต่าง ๆ ในวัดจะเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา หากยังพอมีเค้าความงดงาม ให้ได้ศึกษางานช่างศิลป์ไทยชั้นสูงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ +66 2816 4248
ที่อยู่ : 24 หมู่ 3 บ้านป่าเกด ถนนเพชรหึงษ์ พระประแดง, สมุทรปราการ
เครดิต : http://1ab.in/OSh
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร
วัดพุทธแบบศิลปะจีนที่งดงามมากจนได้ขึ้นเป็นพระรามอารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 อันเป็นยุคฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในหลายๆชื่อ เช่น วัดกรมศักดิ์หรือวัดปากลัด ตามพระนามผู้สร้างคือ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น ศักดิ์พลเสพย์แม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่คั่งค้างอยู่ เมื่อถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ จึงเรียกว่า "วัดวังหน้า" ก่อนจะได้รับพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ว่า "วัดไพชยนต์พลเสพย์" สถาปัตยกรรมของวัดพุทธจีนแห่งนี้งดงามแปลกตา พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา แต่มีใบเสมาหินทรายสีเขียว หัวบันไดประดับหินสิงโตจีน ภายในผสมผสานศิลปะไทย สลักลายรดน้ำ ลงรักปิดทองเป็นรูปป่าหิมพานต์และสิงสาราสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่บานหน้าต่าง และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยปิดทองอร่ามอยู่บนบุษบกยอดปรางค์จัตุรมุข เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ส่วนพระวิหารศิลปะจีน มีหน้าบัน กรอบบานประตูและหน้าต่างแต่งลายปูนปั้นวิจิตรอ่อนช้อย ซุ้มด้านหน้าพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางยืนถวายเนตรและยังมีพระโมคคัลลาน์ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า และพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาในอิริยาบถนั่งอยู่ด้วย นับเป็นวัดสำคัญประจำพระประแดงมาทุกยุคทุกสมัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2462 6033
ที่อยู่ : พระประแดง, สมุทรปราการ
เครดิต : http://1ab.in/OSm
แสดงความคิดเห็น