วัดเขาสุกิม
เดิมคือสถานปฏิบัติธรรมในท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เขาอีกิม"
มีพื้นที่ประมาณ 3,280 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2507
ชาวบ้านได้นิมนต์พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย
และภิกษุสามเณรจากสำนักสงฆ์เนินดินแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกล มาจำพรรษาบนเขาอีกิม
และด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย
จึงมีการเริ่มก่อสร้างวัดในปีเดียวกัน
โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญภาวนาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
พร้อมกับสร้างโรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม และโรงพยาบาลวัดเขาสุกิม
เพื่อยังประโยชน์ต่อสาธารณะอีกด้วย
วัดเขาสุกิมจึงเป็นวัดพัฒนาและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจันทบุรี
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้ ได้แก่
พระประธานที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ติดผนัง สูง 110 นิ้ว หน้าตักกว้าง 99
นิ้ว มีซุ้มรอบองค์พระเป็นลวดลายพญานาค 9 เศียร ฐานชุกชีมีพระปรมาภิไธยย่อ
ภปร. โดยมีการประดับคริสตัล สวารอฟสกี้ที่ฐานชุกชีและซุ้มรอบองค์พระ
พิพิธภัณฑ์วัดเขาสุกิม อยู่บนชั้น 3 ของตึก 60 ปีเฉลิมพระเกียรติ
เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ
ทั้งที่ทำด้วยศิลาและสำริด เครื่องถ้วยกระเบื้องจีนขนาดเล็กและใหญ่ ขวานหิน
ฆ้อง หม้อ ไห มีด ดาบ เครื่องประดับสำริด กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ดังของไทย เช่น
หลวงปู่แหวน หลวงปู่วัน พระอาจารย์มั่น ฯลฯ
และภายในวัดยังเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมวิปัสสนาอีกด้วย
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน
เวลา 06.30-17.00 น.
สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 08 9931 5544
*** หมายเหตุ
โปรดแต่งกายสุภาพ ห้ามนุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่าหรือกางเกงขาสั้นเหนือเข่า
ทางวัดจะไม่อนุญาตให้เข้าวัดโดยเด็ดขาด
ที่อยู่ : ท่าใหม่, จันทบุรี
เครดิต : https://1th.me/ukKZI
วัดโบสถ์เมือง และชุมชนริมน้ำจันทบูร
วัดโบสถ์เมือง
ตั้งอยู่บนเนินสูงระดับเดียวกันกับที่ตั้งศาลากลางหลังเก่าบนถนนเบญจมราชูทิศ
ติดกับแม่น้ำจันทบุรีฝั่งขวา สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2395
และน่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
โดยสังเกตจากใบเสมาหินทรายขาว พระอุโบสถ และเจดีย์ทรงลังกา
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบทับหลังอันเป็นศิลปะบาปวนตอนปลาย พ.ศ. 1510-1630
รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว และภายในวัดยังมีสิ่งต่าง ๆ
น่าชมมากมาย เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์
เจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมธาตุ มีเจดีย์เล็กล้อมรอบสี่มุม
หน้าอุโบสถมีทับหลังศิลปะบาปวน โรงเรียนพระปริยัติธรรม
ส่วนด้านหลังของวัดนั้น มีบันไดที่สามารถเดินลงไปถึงย่านท่าหลวง
อันเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบูรที่มีอายุราว 300 ปี
ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช
ปัจจุบันมีการส่งเสริมและพัฒนาริมน้ำจันทบูรให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ถนนริมน้ำในอดีตเคยเป็นย่านการค้าดั้งเดิม มีร้านค้าเก่าแก่
บ้านเรือนเก่าที่ยังมีความงดงาม
ที่อยู่ : 146 เมืองจันทบุรี, จันทบุรี
เครดิต : https://1th.me/XqaiV
วัดไผ่ล้อม
วัดเก่าแก่แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. 2320 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2325
และโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในปี พ.ศ. 2539
โดยมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมากมาย น่าชม
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก
ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร เป็นพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง
32.49 เมตร ยาว 54.19 เมตร ศิลปะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519
โดยนายมนัส กลิ่นขจร จากกรมศิลปากร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรลงกรณสยามมกุฎ ราชกุมาร
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีสวมพระเกศ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.
2531 พระอุโบสถ ที่น่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลังรัชกาลที่ 3
มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีช่องทางเข้า
ฉนวนด้านหลังมีเสารองรับ 5 ต้น ไม่มีบัวหัวเสา ฐานอาคารเป็นเส้นตรง
มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กอยู่ภายในกำแพงแก้ว
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพต้นไม้ ประเภทบอนไซและดอกไม้แบบจีน
เรื่องทศชาติ และพุทธประวัติที่ยังคงสภาพสมบูรณ์
ลักษณะการเขียนน่าจะเป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นหลังรัชกาลที่ 3 ลงมา
เนื่องจากมีชาวต่างชาติปรากฏจำนวนมากในภาพวาด กุฏิและศาลาการเปรียญ
ที่งดงามด้วยลายฉลุไม้แบบขนมปังขิง สันนิษฐานว่ามีอายุร่วมร้อยปี
ที่อยู่ : 17 หมู่ 6 ถนนพิศาลธีรคุณ เมืองจันทบุรี, จันทบุรี
เครดิต : https://1th.me/HIQ0N
วัดทองทั่ว
โบราณสถานเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาอายุกว่าพันปี เดิมชื่อ วัดเพนียด
จากหลักฐานที่พบทั้งใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ
ซึ่งมีลักษณะของใบเสมาตามสมัยนิยมในอยุธยา มีรูปเทวดาถือดอกบัว 2 ดอก
แยกออกซ้ายขวา และพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งภายในวัด
ซึ่งเป็นลักษณะของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย
บริเวณใกล้วัดยังมีหลักฐานกำแพงเมืองปรากฏอยู่
ตัวพระอุโบสถยังคงโครงสร้างศิลปะเดิมของอยุธยาอย่างเห็นได้ชัด
แต่ในปัจจุบันได้มีการต่อเติมเปลี่ยนแปลง
ทำให้มีการผสมระหว่างศิลปะเดิมมีลักษณะเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาและศิลปะใหม่ที่ถูกสร้างแทนที่ไปตามสมัยนิยมนั้น
ๆ
นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์
หรือหลวงพ่อทอง พระพุทธรูปโบราณสมัยอยุธยา ที่เก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถ
กรมการศาสนาได้ออกหนังสือรับรองสภาพวัดทองทั่วว่า ได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.
2310 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2318
เพื่อรับรองว่าเป็นวัดสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121
นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลได้ทุกวัน
ไม่มีวันหยุด โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าเยี่ยมชมแต่อย่างใด
ที่อยู่ : 35 หมู่ 4 เมืองจันทบุรี, จันทบุรี
เครดิต : https://1th.me/BqqKm
วัดพลับ
วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. 2300
และบริเวณดังกล่าวยังเคยเป็นสถานที่ที่กองทัพพระเจ้าตากสินมหาราชใช้พักไพร่พลและประกอบพิธีทางศาสนาก่อนที่จะเข้าตีเมืองจันท์
โดยมีการสร้างพระยอดธงและประพรมน้ำมนต์เพิ่มขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญ
วัดพลับได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติจากกรมศิลปากรในปี
พ.ศ. 2523
สิ่งที่น่าสนใจ ตู้พระไตรปิฎกไม้ ลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำ
ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย เจดีย์ทรงปรางค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2441
หอไตรโบราณกลางน้ำ เป็นเรือนไม้ หลังคาสองชั้นทรงจั่ว มีระเบียงรอบหอ
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเล่าขานว่าพระเจ้าตากใช้น้ำจากบ่อนี้มาทำพิธี
เจดีย์กลางน้ำทรงระฆัง รูปแบบรัตนโกสินทร์
วิหารไม้หลังคาทรงจัตุรมุขอายุนับร้อยปี
ภายในประดิษฐานพระประธานปางบำเพ็ญทุกรกิริยา "สำซ่าง"
ตั้งอยู่ทางด้านหลังวัด เป็นที่เผาศพแบบโบราณ
ซึ่งเชื่อว่าเหลืออยู่ที่วัดนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
มีลักษณะเป็นหลังคาลดชั้น 5 ชั้น ยอดแหลมมุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า
(กระเบื้องดินเผาปลายตัดเป็นมุมแหลม ผิวด้านสีแดงตามเนื้อดิน ใช้มุงหลังคา
โบสถ์ วิหาร) แต่ปัจจุบันพังทลายลงไปแล้ว พระอุโบสถ
ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ปลุกเสกมุรธาภิเษก หรือน้ำพระพุทธมนต์สำหรับรดพระเศียร
ในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
(รวมทั้งรัชกาลที่ 9)
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 0 3930 3298-9
ที่อยู่ : 154 หมู่ 1 ถนนสายท่าแฉลบ เมืองจันทบุรี, จันทบุรี
เครดิต : https://1th.me/Ttc27
แสดงความคิดเห็น