11/10/64

5 สถานที่แนะนำเมื่อไปเชียงใหม่

 

วัดท่าตอน

วัดท่าตอนเป็นวัดประจำอำเภอแม่อายที่มีวิวทิวทัศน์งดงามเพราะตั้งอยู่บนไหล่เขา ที่สามารถมองเห็นวิวอำเภอแม่อาย และทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลังที่งดงาม ภายในวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุท่าตอน ซึ่งไม่ทราบที่มาแน่ชัด เพียงแต่พออนุมานได้ว่าเมื่อคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้ขึ้นมาบูรณะพระธาตุสบฝาง ท่านได้มาถึงท่าตอนแล้วบอกชาวบ้านให้ขึ้นไปหาพระธาตุบนเขา ชาวบ้านได้พากันถางป่าเพื่อค้นหา และพบเจอพระธาตุเก่าแก่อยู่ในพุ่มไม้ จึงนิมนต์ท่านบูรณะ แต่ท่านไม่รับ และบอกให้นิมนต์ครูบาแก้วกาวิชัยมาบูรณะ แทนเพราะเป็นของคู่บารมีท่าน ซึ่งชาวบ้านก็ได้นิมนต์ครูบาแก้วมาบูรณะและสร้างวัดขึ้น โดยสิ่งที่น่าสนใจของวัดท่าตอนแห่งนี้ อยู่ภายในศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนและศิลปะสมัยพ่อขุนเม็งรายซึ่งอัญเชิญมาจากวัดพระธาตุสบฝาง โดยมีพระพุทธรูปยืน 3 องค์ ที่ฐานมีอักษรโบราณจารึกให้ค้นคว้า และพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 5 องค์ มีพระนาคปรก เป็นพระก่อด้วยอิฐปูน หน้าตักกว้างกว่า 7 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 ใต้ฐานศาลาการเปรียญยังเป็นห้องโถงอันเป็นที่ปฏิบัติกรรมฐานภาวนา มีพระพุทธรูปอิ่มตลอดกาล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรซึ่งเป็นพระประจำวันเกิดของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (วัดปากน้ำ) โดย เป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ สูง 9 เมตร ประทับยืนเด่นสง่าให้ผู้เลื่อมใสได้กราบไหว้สักการะ 
 
 
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตอน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
เครดิต :  https://1th.me/3BUrY

 

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

สักการะอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทย และปูชนียบุคคลที่ชาวเชียงใหม่เคารพศรัทธา มาจนถึงปัจจุบัน โดยเรื่องราวของครูบาศรีวิชัยนั้นมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่เป็นอย่างมากเนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูวัดวาอาราม โบราณสถานต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือ ที่ทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือ ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกเส้นทาง ขึ้นดอยสุเทพ ที่ทำให้เรามีโอกาสได้ขึ้นไปชื่นชมความงามของธรรมชาติและกลิ่นอายแห่งอารยธรรมล้านนาในทุกวันนี้ นอกจากนี้หลายคนยังเชื่อกันว่า เพียงได้มาไหว้ครูบาศรีวิชัยก็เสมือนได้กราบสักการะพระบรมธาตุเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน ยังมีการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ในยามเช้าที่บริเวณลานครูบาศรีวิชัย โดยนักท่องเที่ยว ควรแต่งกายสุภาพ และหากไม่สะดวกที่จะเตรียมของใส่บาตรมาเอง ก็มีพ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายของใส่บาตร ต่อผู้มีจิตศรัทธาอยู่ในบริเวณนั้น 
 
 
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เครดิต : https://1th.me/fKImf


 

วัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายใน เป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์นั้นมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1900-2000 เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่าง ๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ แต่ปัจจุบันค่อนข้างรางเลือนไปมากตามกาลเวลา และกำลังอยู่ในระหว่างการ บูรณะขึ้นใหม่ ส่วนด้านบนอุโมงค์นั้นเป็นเจดีย์ล้านนาเก่าแก่ ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณ ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด ส่วนด้านหน้าอุโมงค์มีเศียรพระพุทธรูปหินสลัก สกุลช่างพะเยา พ.ศ. 1950-2100 นอกจากนี้บริเวณวัดอุโมงค์ยังเป็นสวนพุทธธรรมที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา โดยด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน รวมทั้งยังเป็นสถานที่ดูนกที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่  ดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.watumong.org
 

ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ อำเภอเมือง หากไปจากตลาดต้นพยอม วิ่งผ่านสี่แยกคลองชลประทานด้านหลัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณ 500 เมตร เข้าซอยทางด้านซ้ายมือไปประมาณ 2 กิโลเมตร

เครดิต :  https://1th.me/N8DOe

 

วัดอู่ทรายคำ

วัดอู่ทรายคำแห่งนี้สร้างโดยอุบาสิกาที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองเชียงแสน และได้มาตั้งบ้านเรือนในบริเวณดังกล่าว พร้อมกับร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น โดยแต่เดิมนั้นมีชื่อเรียกว่าวัดอุปคำ และเรียกขานกันต่อมาเป็นวัดอู่สายคำ จนเพี้ยนเป็นวัดอู่ทรายคำในที่สุด 
สถานที่น่าสนใจภายในวัด - พระพุทธสิหิงค์หยก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "พระสิงห์หยก" วัดอู่ทรายคำ เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญมากที่สุดของวัด พระปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาแบบสิงห์ 1 ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 41 นิ้ว น้ำหนัก 900 กิโลกรัม โดยทำขึ้นจากเนื้อหยกธรรมชาติแท้ เจดส์ได (Jadeite) ประเภทคอมเมสเชียลเจดส์ (CommercialJade) นับว่าเป็นพระหยกธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งความงดงามของหยกนั้นได้สะท้อนออกมาเป็นหลากหลายสีสันที่อยู่ในองค์พระ เช่น สีเทาอมฟ้า สีม่วงที่ไหล่ซ้าย สีเขียวพระหัตถ์ซ้ายผ่านหน้าอก ทะลุลงบัลลังก์ และมีสีขาวเป็นจุด ๆ ที่เข่าซ้าย ซึ่ง ถือว่ามีสีลักษณะครบตามที่คนจีนเรียกว่า ฮก ลก ซิ่ว นับว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง กล่าวกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ผากั้น รัฐคะฉิ่น ตอนเหนือของพม่า ถูกนำมาประมูลขายที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช แห่งวัดบวรนิเวศวิหารกรุงเทพฯ ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบทองคำไว้ในพระเศียร และทรงตั้งพระนามให้เพื่อเป็นมิ่งขวัญ ของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วโลก - ธรรมมาสน์โบราณที่ยังใช้มาจนปัจจุบัน - ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระอุโบสถ รวมทั้งหอไตรโบราณ ที่มีศิลปกรรมรูปทรงแบบล้านนาไทย หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ประสาทหลังก๋าย" นับเป็นหอไตรที่งดงามยิ่ง  
เปิดให้เข้าชมและสักการะพระสิงห์หยกทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 5323 2410
 
 
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  
เครดิต : https://1th.me/3O5ob

 

 

วัดป่าตึง

เป็นวัดเก่าคู่กับวัดเชียงแสน แม้จะเป็นวัดร้างก็ตาม แต่ก็มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและของมีค่ามากมายหลายอย่าง อาทิเช่น วัตถุโบราณ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยชามสังคโลก ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยชามที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด นอกจากนี้ภายในศาลาการเปรียญยังเป็นที่ตั้งศพของเกจิอาจารย์ชื่อดัง คือหลวงปู่หล้า ซึ่งสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ให้ผู้ที่มีศรัทธาได้บูชา ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้รับสมญานามจากศรัทธาญาติโยมว่าเป็นพระภิกษุที่มีญาณวิเศษ ที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ หลายคนจึงขนานนามท่านว่า "หลวงปู่หล้า ตาทิพย์" ท่านเป็นพระเกจิอีกรูปหนึ่งที่มีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งตนอยู่ในหลักศีลธรรมอันงดงามมาโดยตลอด รู้จัก "หลวงปู่หล้า" หลวงปู่หล้า หรือ พระครูจันทสมานคุณ นั้น เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ สมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ( พ.ศ. 2426-2439) กับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 ( พ.ศ. 2442-2452) โดยท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2441 ที่บ้านปง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่ออายุได้ 8 ขวบ โยมแม่ก็นำไปฝากกับครูบาปินตา เจ้าอาวาสวัดป่าตึง ท่านจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือเป็นครั้งแรก ซึ่งสมัยนั้นจะเรียนหนังสือพื้นเมือง จนอายุได้ 11 ขวบ ก็ได้บวชเป็นสามเณรในช่วงเข้ารุกขมูล และเข้ากรรมอยู่ในป่า การเข้ากรรมหรืออยู่กรรมนั้น เรียกว่าประเพณีเข้าโสสานกรรม ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์จะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งมักกระทำกันในบริเวณป่าช้าที่อยู่นอกวัด พระสงฆ์และผู้ที่เข้าบำเพ็ญโสสานกรรมจะต้องถือปฏิบัติเคร่งครัด เพื่อต้องการบรรเทากิเลสตัณหา เมื่ออายุได้ 18 ปี จึงเดินทางไปจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่เพื่อเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพน เรียนได้ยังไม่ทันสำเร็จต้องกลับวัดป่าตึง เพื่อปรนนิบัติครูบาปินตาที่ชราภาพ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 ครูบาปินตาก็มรณภาพด้วยวัย 74 ปี และหลวงปู่หล้าได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าตึงต่อจากครูบาปินตาแทน เมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูจันทสมานคุณ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 63 ปี และได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2536 ในขณะที่มีอายุได้ 97 ปี 
 
 
 
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขตตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เครดิต : https://1th.me/RLGMV

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only