8/10/64

5 สถานที่ท่องเที่ยวจ.นครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ตั้งอยู่ที่บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ทั้งหมด 80.5 ไร่ เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน ทำพิธีเปิด 
ชื่อเต็มของสถานที่แห่งนี้ คือ "สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา" เป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในเจ็ดแห่งของโลก ที่นี่แบ่งออกเป็น 3 พิพิธภัณฑ์ด้วยกัน คือ 
1.พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน มีไม้กลายเป็นหินที่มีอายุตั้งแต่ 800,000- 330 ล้านปีและไม้กลายเป็นหินเนื้ออัญมณี 
2.พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ มีซากช้างดึกดำบรรพ์หลายสกุล ไม่ว่าจะเป็นช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม และบรรพบุรุษของช้าง 
3.พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ มีชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินพืช และกินเนื้อ พร้อมทั้งวีดีโอแอนิเมชั่นให้ชมอีกด้วย 
ความเป็นมาของทั้ง 3 พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน มีโครงการก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 แต่จัดสร้างและสามารถจัดแสดงนิทรรศการ ได้ในปี พ.ศ. 2545 และเนื่องจากไม้กลายเป็นหินพบได้ในเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน จึงไม่สามารถนำไม้กลายเป็นหินทั้งหมดจำนวนมาก มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ ส่วนใหญ่จึงจัดไว้ในงานภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ โดยแยกเป็นโซนพื้นที่ของไม้กลายเป็นหินจังหวัดต่าง ๆ ขณะที่ในพิพิธภัณฑ์จะเน้นในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ตัวอย่างของไม้กลายเป็นหิน เช่น ไม้กลายเป็นหินเนื้ออัญมณี ไม้กลายเป็นหินตระกูลปาล์ม ไม้กลายเป็นหินหลากหลายอายุ พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ก่อตั้งขึ้นเพราะพบว่า ในจังหวัดนครราชสีมามีซากช้างดึกดำบรรพ์จำนวนมาก และหลากหลายชนิดกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยพบในระดับลึกช่วง 5-40 เมตร จากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลและสาขา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โนนสูง จักราช พิมาย และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะตำบลท่าช้างเพียง 1 ตำบล พบช้างดึกดำบรรพ์ถึง 8 สกุล จาก 42 สกุลที่พบทั่วโลก มีอายุอยู่ในสมัยไมโอซีนตอนกลางถึงสมัยไพลสโตซีนตอนต้น(16-0.8 ล้านปีก่อน) พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ก่อตั้งขึ้นเพราะพบว่า พื้นที่ตำบลโคกกรวดที่อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งตำบลสุรนารีที่เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ มีชิ้นส่วนกระดูก และฟันของไดโนเสาร์ กระจายอยู่ทั่วไปและพบต่อเนื่องบนพื้นที่กว้างขวางกว่า 28,000 ไร่ จำแนกเบื้องต้นได้ถึง 4 พวก คืออัลโลซอร์ พวกกินพืชขนาดใหญ่ที่คาดว่าอาจยาวถึง 10 เมตร, โซโรพอด พวกกินพืชขนาดใหญ่คาดว่ามีความยาวไม่ต่ำกว่า 15 เมตร,อิกัวโนดอนต์ พวกกินพืชขนาดกลางมีฟันคล้ายกิ้งก่าอิกัวน่า,แฮดโดรซอร์หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด ไดโนเสาร์เหล่านี้มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ประมาณ 100 ล้านปีก่อน ติดต่อสอบถาม พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อใช่ไหมครับ เป็นหนึ่งในเจ็ดแห่งของโลก และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  โทร. 044-370739-41 โทรสาร 044-3707421 เว็บไซด์ www.khorat fossil.org (หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้า)
 
ที่อยู่ : เลขที่ 184 ถนนมิตรภาพ-หนองปลิง หมู่ 7 บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 30000
เครดิต : https://1th.me/4vMXL
 
 

ปราสาทหินพนมวัน

 

ปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ ถนนสายโคราช-ขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา เป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมในคติความเชื่อของเขมรโบราณ สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นเทวสถาน ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธสถาน เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย ตัวปราสาทหินพนมวันสร้างเป็นปรางค์มีฉนวน (ทางเดิน) ติดต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว 25.50 เมตร กว้าง 10.20 เมตร พระปรางค์มีประตูซุ้ม 3 ด้าน ซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย 1 องค์ ลักษณะศิลปะแบบอยุธยา รอบปราสาทเป็นลานกว้างมีระเบียงคดก่อด้วยหินกว้าง 54 เมตร ยาว 63.30 เมตร ประกอบด้วยประตูทางเข้า 4 ทิศ ทางด้านทิศตะวันออกมี "บาราย" หรือสระน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชน เรียกว่า "สระเพลง" ซึ่งยังคงสามารถใช้ประโยชน์ได้ถึงปัจจุบัน ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์มีอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงเรียกว่า "ปรางค์น้อย" ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบปราสาทมี ระเบียงคต สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมเป็นกำแพงอยู่ ประตูทางเข้าเทวสถาน มีซุ้มประตูสลักหินทรายขนาดเล็กก่อสร้างเป็นรูปหอสูงทั้งสี่ทิศ บริเวณรอบนอก ปราสาททางด้านทิศตะวันออกห่างจากโบราณสถานเกือบ 300 เมตร มีร่องรอยของคู น้ำและเนินดิน เรียกกันแต่เดิมว่า "เนินนางอรพิมพ์" หรือ "เนินอรพิม" นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงจัดเรียงเป็นแนวคล้ายซากฐานอาคารบนเนินแห่งนี้ด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น "พลับพลาลงสรง" ในรูปแบบพิเศษที่ไม่เคยพบในที่อื่น ๆ ของประเทศไทย อาจใช้เป็นเรือนสำหรับรับรองเจ้านายหรือเป็นวังของผู้ปกครองเมืองพนมวัน แล้วก็เป็นพลับพลาพระตำหนักรับเสด็จพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือผู้แทนพระองค์ที่น่าจะเดินทางมาถึงปราสาทพนมวันในยุคพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อถวายพระพุทธรูปพระชัยพุทธมหานาถ และจากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร ทำให้เรารู้ว่าปราสาทหินพนมวันสร้างขึ้นเป็นจนเป็นยอดปราสาทโดยสมบูรณ์แต่ก็พังทลายแบบถล่มลงมาอย่างรุนแรงทำให้ชิ้นส่วนรูปสลักที่มีอยู่ไม่มากนักกระทบกันจนแตกหัก เรือนยอดปราสาทแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กจนยากที่จะซ่อม ส่วนหน้าบันก็มีหลงเหลือจนเกือบครบทุกด้าน มีทั้งที่ยังไม่เริ่มแกะสลักไปจนถึงแกะสลักเสร็จแล้ว 

สิ่งที่น่าสนใจของปราสาทหินพนมวัน

 - เป็นศาสนสถานที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ถูกสร้างในแบบศาสนาพราหมณ์ แต่มีการค้นพบพระพุทธรูป

 - แผนผังของปราสาทหินพนมวันมีรูปแบบเดียวกันกับปราสาทหินพิมาย ใน ศิลปะร่วมแบบบาปวน

 - การก่อสร้างลำบากเพราะแถบนี้ไม่มีภูเขาหินทราย จึงต้องไปเอาหินทรายมา จากที่ไกลแล้วขนมา จึงใช้หินทรายแดงที่มีคุณภาพต่ำผสมกับหินทรายสีขาวเทาเพราะ แหล่งวัตถุดิบที่ใกล้สุดมีหินทรายทั้งสองสีผสมกัน

 

ที่อยู่ : ถนนโคราช-ขอนแก่น เมืองนครราชสีมา, นครราชสีมา

เครดิต :  https://1th.me/LmeuV

 

 

วัดหน้าพระธาตุ

 

วัดหน้าพระธาตุ หรือชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่าวัดตะคุ เป็นวัดเก่าแก่ของชาวปักธงชัย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2330 หรือในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ห่างจากเทศบาลเมืองเมืองปักประมาณ 4 กม. 

สิ่งที่น่าสนใจ 

1. โบสถ์หลังเก่า ตั้งอยู่ข้างโบสถ์ใหม่ เป็นหลังดั้งเดิมมีมาแต่ครั้งสร้างวัด ฐานโบสถ์มีลักษณะแอ่นโค้ง ที่ศัพท์ทางช่างเรียกว่า ตกท้องสำเภา หรือท้องช้าง หรือท้องเชือกซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ช่างนิยมทำกันในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจคือส่วนของหลังคาซึ่งไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เช่นโบสถ์ที่พบเห็นทั่วไป ซึ่งคล้าย "ศิลปะพระราชนิยม" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในโบสถ์มีภาพเขียนซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์น่าชม เป็นภาพแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภาพชาดกตอนต่าง ๆ ภาพพระบฏ (พระพุทธเจ้าทรงยืน) ภาพการนมัสการรอยพระพุทธบาท ภาพพิธีศพหรืออสุภกรรมฐาน พระมาลัย นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย ในอดีตมีภาพเขียนทางด้านนอก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้า 

2. หอไตรกลางน้ำ ตั้งอยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า หอไตรหลังนี้ยกพื้นสูงชั้นเดียวตั้งอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยหลังคาจั่วภาคกลาง ผนังอาคารเป็นแบบฝาปะกน เหตุที่ต้องสร้างอยู่ในน้ำเพราะหอไตรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ตำราคัมภีร์โบราณซึ่งทำจากใบลานเป็นส่วนใหญ่ มอดมดปลวกจึงมักมาแทะกัดกินทำให้เกิดความเสียหาย คนโบราณจึงได้สร้างสระน้ำ ป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปทำลายพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปหยิบไปใช้ก็จะมีสะพานพาดไปที่บันไดทางขึ้นหอไตร เสร็จแล้วก็ยกออก ปัจจุบันหอไตรนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามหน้าที่เดิมแล้ว หอไตรหลังนี้มีภาพเขียนให้ชม ด้านนอกตั้งแต่ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำปิดทอง ส่วนตามผนังเป็นภาพพุทธประวัติ เทพชุมนุม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แม่พระธรณีซึ่งอยู่ในสภาพลบเลือนไปมาก ส่วนด้านในหอไตรเป็นเทพชุมนุม ดอกไม้ร่วง เป็นต้น 

3. พระธาตุ มีงานนมัสการวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 อยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า เป็นปูชนียสถานที่ชาวปักธงชัยให้ความเคารพศรัทธา ตามประวัติของวัดกล่าวว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน องค์พระธาตุมีรูปทรงคล้ายพระธาตุเจดีย์ที่พบเห็นในภาคอีสาน คือฐานธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนบนสูงเรียวขึ้นไปสอบเข้าหากันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกบัว จึงเรียกกันในศิลปะลาวว่าทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุแบบพื้นบ้านลาว


ที่อยู่ : หมู่ 1 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

เครดิต :  https://1th.me/JsDTg


วัดศาลาลอย

วัดศาลาลอย เป็นวัดเก่าแก่ที่ท้าวสุรนารีสร้างขึ้นภายหลังจากรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2370 ซึ่งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสรณ์สถานเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นภายในวัด ภายหลังที่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว 

จุดเด่นของวัดนี้ อยู่ที่อุโบสถหลังใหม่ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยามปี พ.ศ. 2516 และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ใช้วัสดุพื้นเมืองคือกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนนำมาประดับตกแต่ง เช่น ผนังด้านหน้าอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ส่วนบานประตูเป็นโลหะลายนูน ภาพเล่าเรื่องเวชสันดรชาดก (13 กัณฑ์) ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร พระนามว่า"พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์" หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี ความเป็นมา วัดศาลาลอย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโคราชเคารพนับถือเป็นอย่างมากเป็นเวลากว่า 200 ปี เมื่อครั้งท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม เสร็จศึกสงครามจากทุ่งสัมฤทธิ์ ขณะยกทัพกลับเมืองนครราชสีมา ได้แวะพักบริเวณท่าตะโก และได้สั่งให้ทหารทำแพเป็นรูปศาลาเสี่ยงทายลอยไปตามลำตะคอง พร้อมตั้งจิตอธิฐาน หากแพรูปศาลานี้ ลอยไปติดอยู่ ณ ที่แห่งใด จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ซึ่งแพได้ลอยไปติดอยู่ริมฝั่งขวาของลำตะคอง ซึ่งเป็นวัดร้าง จึงได้สร้างพระอุโบสถ เป็นวัดศาลาลอยในปัจจุบัน และยังเป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีภายในวัด ท่านได้นมัสการพระประธาน และพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ อุโบสถหลังเก่า พร้อมชมศิลปะประยุกต์ อุโบสถเรือสำเภาประดับด้วยกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนด้วย วัดแห่งนี้จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวโคราชสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

ที่อยู่ : เมืองนครราชสีมา, นครราชสีมา

เครดิต : https://1th.me/vOgYT  


วัดเขาจันทน์งาม (วัดเลิศสวัสดิ์)

วัดเขาจันทน์งาม หรือสำนักสงฆ์เขาจันทน์งาม เดิมชื่อ วัดเลิศสวัสดิ์ เป็นสถานที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสผู้ทรงศีล เป็นวัดป่าที่บรรยากาศสงบเงียบ ร่มเย็น ตั้งอยู่ในส่วนหนึ่งของเขาจันทน์งาบนเทือกเขาเขื่อนลั่น บ้านเลิศสวัสดิ์ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว ห่างจากหมู่บ้านราว 5 กิโลเมตร 

จุดเด่นของวัดนี้ ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ภาพเขียนสีโบราณ ที่มีอายุกว่า 4,000 ปี หากใครได้มาที่วัดแห่งนี้ ก้าวแรกที่ลงจากรถจะรู้สึกได้ถึงความร่มเย็นและสงบเงียบ จากภูมิประเทศโดยรอบของวัด บริเวณนี้น่าจะเคยเป็นที่อยู่ของคนยุคโบราณ เนื่องจากเป็นบริเวณของรอยแยกหิน เป็นลักษณะร่องเขา คล้ายกับแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคหิน หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากที่จอดรถจะมีทางเดินเป็นทางปูนซีเมนต์ เดินขึ้นเขาประมาณ 100 เมตร ผ่านป่าและต้นไม้สองข้างทางอันหนาแน่น และร่มเย็น สักพักจะมีทาง 3 แยก มีรูปปั้นพระสิวลี และพระปรางค์ประทานพร ให้เราได้กราบไหว้ เปรียบเสมือนด่านแรกในการเข้าสู่เขตแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าไปทางซ้าย เป็นเส้นทางไปสักการะพระประธานภายในอุโบสถ และมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบ 3 องค์ ด้านหน้าพระประธาน ให้สักการะ แต่ถ้าจะไปดูรูปเขียนสี ให้เลี้ยวขวา เดินไปอีกประมาณ 30 เมตร จะพบกับทางเข้าไปชมภาพเขียนสี หน้าทางเข้ามีป้ายบอกประวัติการค้นพบ เนื้อหาโดยรวมกล่าวว่า จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2526 ทำให้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ได้แก่ ภาพเขียนสี บริเวณที่ปรากฏภาพเขียนสีเป็นเพิงผาหินทรายขนาดใหญ่ ตัวภาพอยู่สูงจากพื้นประมาณ 3-4 เมตร เมื่อเดินเข้ามาแล้ว จะพบร่องหินและต้นไม้ที่มีรากยาวพันเกาะเกี่ยวกับก้อนหินขนาดใหญ่ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ต้องอาศัยระยะเวลากว่า 100 ปี เป็นอย่างน้อย จึงจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้สวยงามและยิ่งใหญ่มาก ผ่านจุดนี้ไป ทางขวาจะเป็นเวิ้งกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นตรงกลางสูงตระหง่านทะลุผ่านกำแพงภูเขาคล้ายถ้ำเล็ก ๆ หากดูภายนอกจะไม่สามารถมองเห็นภาพเขียนโบราณได้ ต้องเดินเข้าไปกลางห้อง กลับหลังหัน จึงจะเห็นภาพเขียนอยู่ด้านบนฝั่งซ้าย สูงประมาณ 5 เมตร ภาพเขียนสีโบราณนี้ เป็นภาพเขียนสีด้วยสีแดง มีทั้งภาพลงสีแบบเงาทึบและภาพร่างรูปคน แสดงให้เห็นผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และสัตว์ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว ศิลปะถ้ำแห่งนี้มีการเขียนภาพลงสีที่ปรากฏจำนวน 12 กลุ่ม มีภาพกลุ่มคน สัตว์ ทั้งแบบเงาทึบ ภาพร่าง ภาพลายเส้น ที่ยังไม่สามารถแปลความหมายได้อีกจำนวนหนึ่ง ภาพเด่น ๆ คือ ภาพคนที่มีทั้งชาย หญิง และเด็กที่อยู่ในลักษณะต่าง ๆ เช่น นั่ง เต้นรำ ยืน และยิงธนู นอกจากนี้ ในบริเวณนี้ยังมีพระพุทธรูปประจำพื้นที่ ให้เราได้สักการะ แล้วก็มีทางเดินที่มีก้อนหินหล่นมาค้างอยู่ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ นอกจากภาพเขียนสีแล้ว ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นรอยพระพุทธบาท 4 รอย เมื่อเราเดินลัดเลาะผ่านธรรมชาติและป่าขึ้นไปบนเขาอีกประมาณ 80 เมตร ทางขวามือจะพบภาพสลักบนหินทราย เป็นรูปพระสังกัจจายน์องค์เล็ก ๆ เมื่อมองไปทางด้านซ้าย มีพระปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ยาว 12.75 เมตร แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงบนผนังหินทรายลงสีสวยสดงดงาม ทางด้านปลายพระบาทพระพุทธรูปมีป้ายแกะสลักบอกความเป็นมาของพระพุทธรูปทั้งสององค์ สำหรับรอยพระพุทธบาทสี่รอยนั้น จะต้องเดินขึ้นไปชมบนเขาห่างไปอีก 10 เมตร เมื่อเดินขึ้นไปจะเห็นรอยพระพุทธบาทที่กว้างใหญ่ มากกว่าที่เคยเห็นมาจริง ๆ ขนาดที่บอกไว้ คือ กว้าง 5 เมตร ยาว 9.50 เมตร ที่ว่าเป็นรอยพระบาทสี่รอยนั้น คือเป็นรอยพระพุทธบาทบนหินทรายที่ซ้อนกันเป็น 4 ชั้น จากใหญ่ลงไปเล็กซ้อนกัน รายละเอียดของรอยพระพุทธบาทสมบูรณ์มาก ตามมุมของรอยพระบาทมีภาพสลักเทพหลากแบบไม่ซ้ำกัน

 

ที่อยู่ : ถนนมิตรภาพ สีคิ้ว, นครราชสีมา

เครดิต : https://1th.me/kfFG0

 

 





แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only