วัดบ้านกร่าง
วัดบ้านกร่าง ตั้งอยู่ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา
คาดว่าน่ามีอายุร่วม 400 ปี จุดเด่นของวัดอยู่ตรง กรุพระขุนแผนบ้านกร่าง
ซึ่งเป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา เชื่อกันว่า
หากชายใดห้อยกรุพระขุนแผนนี้แล้ว จะแคล้วคลาดคงกระพัน จึงสันนิษฐานกันว่า
พระเครื่องเหล่านี้
น่าจะถูกสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช
เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี
ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่อง ว่ากันว่าเป็นจำนวนถึง 84,000 องค์
แล้วบรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต
พระพิมพ์บ้านกร่าง จึงเป็นพระที่มีความหมายมาก
โดยพิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน
โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถคู่กัน
ปัจจุบันพระรูปแบบนี้นับวันยิ่งหายากยิ่งนัก
ภายในวัดยังเต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น พระอุโบสถและวิหาร
ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทอง
ใบเสมาที่เรียงรายรอบพระอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่างพิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา
ทำให้ใบเสมาของวัดนี้มีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนวัดใด ส่วนวิหารมีอายุราว
450 ปี ภายในมีหลวงพ่อแก้วและพระประธาน ถัดมาเป็น "มณฑป"
ด้านในมีรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ด้านหลังวิหาร
ประดิษฐาน เจดีย์ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่
สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง(พระขุนแผน)
ภายในพระเจดีย์ เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน 20-30 องค์ รวมไปถึง
พระเครื่อง ซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว ริมแม่น้ำยังมี "เจดีย์กลางน้ำ"
ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อายุราว 150 ปี มีลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง
เดิมทีองค์พระเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำท่าจีน
สร้างขึ้นไว้ให้คนทั่วไปได้สักการบูชาในวันลอยกระทง
แต่เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ
จึงเป็นเหตุให้พระเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่
08.00-17.00 น.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่+66 3552 5867, +66 3552 5880
ที่อยู่ : หมู่ 2 ศรีประจันต์, สุพรรณบุรี
เครดิต : https://1th.me/4OGbH
วัดหัวเขา
เมื่อเอ่ยถึงวัดหัวเขา
หลายคนจะนึกถึงหลวงพ่ออิ่ม
หนึ่งในพลวงพ่อของวัดหัวเขาที่ชาวไทยจำนวนมากให้ความเคารพนับถือ
เนื่องจากเป็นผู้ที่เคร่งในพระธรรมวินัยเป็นอย่างมาก
เดิมทีหลวงพ่ออิ่มเป็นพระธุดงค์มาจากเมืองอื่น
แล้วเดินทางมาปักกลดปฏิบัติธุดงควัตรอยู่บริเวณบ้านหัวเขา
ซึ่งแต่เดิมเป็นป่ารกทึบ
ท่านเห็นว่าอาณาบริเวณนี้มีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การสร้างเป็นวัดเป็นอย่างมาก
จึงได้สร้างเป็นวัดขึ้นมาคือ "วัดหัวเขา"
และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
ต่อมาหลวงพ่ออิ่มเดินทางไปศึกษากับหลวงปู่และหลวงพ่ออีกหลายท่าน
ซึ่งล้วนได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลวงพ่อปานแห่งวัดบางนมโคม
ถึงกับยกย่องว่าหลวงพ่ออิ่มเป็นพระเจดีย์
ซึ่งหมายถึงเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่น่าเคารพยกย่องเหมือนกับเป็นพระสถูปหรือพระเจดีย์ที่ควรค่าแก่การสักการบูชาเลยทีเดียว
เมื่อหลวงพ่ออิ่มได้ศึกษาเล่าเรียนเสร็จ
จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดหัวเขาต่อ ในช่วงเวลานั้น
ท่านได้พัฒนาวัดแห่งนี้จนกลายเป็นวัดที่เจริญมากในสมัยนั้น
มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และได้สร้างเครื่องรางของขลังหลายชนิด เช่น
ตะกรุดแบบต่าง ๆ รวมทั้งผ้ายันต์ เหรียญปั๊ม เหรียญหล่อโบราณ รูปหล่อโบราณ
(นางกวัก) แหวนแบบต่าง ๆ พระผงใบลาน เป็นต้น
ซึ่งเครื่องรางของขลังของพลวงพ่อนั้น
ได้รับการกล่าวขานในวงการพระเครื่องว่า
มีคุณวิเศษในด้านบันดาลความมั่งมีศรีสุข เมตตามหานิยม ไปมาค้าขายดีมาก
อยู่ยงคงกระพันชาตรีเป็นอย่างมาก นอกจากนี้
บรรยากาศของวัดจะคึกคักมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงงานประเพณีตักบาตรเทโว
เนื่องจากทุก ๆ ปีทางวัดจะมีการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวขึ้น
หลังจากวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 2 ค่ำ เดือน 11
หากนักท่องเที่ยวมีโอกาสมาเยือนในช่วงเวลาดังกล่าว
คุณจะพบกับผู้คนที่มาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก
และได้สัมผัสกับบรรยากาศที่สนุกสนานไปอีกแบบ
เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่
08.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ +66 3552 5867, +66 3552 5880
ที่อยู่ : หมู่ 2 เดิมบางนางบวช, สุพรรณบุรี
เครดิต : https://1th.me/oJ0Ng
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาต ตั้งอยู่บนถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี
ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ
ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองที่ปลูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง
และมีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี จุดเด่นของวัดอยู่ตรงองค์พระปรางค์
ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรี ที่โด่งดังมากในวงการพระเครื่อง
และเป็นหนึ่งใน "เบญจภาคี" 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่
พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม
กรุงเทพมหานคร, พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี, พระสมเด็จนางพญา
จังหวัดพิษณุโลก, พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ นักโบราณคดีจำนวนไม่น้อยให้ความเห็นว่า
ปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ
เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน
ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญคือ
พระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น
ด้านหน้าพระปรางค์ ก่อด้วยอิฐสอดิน ผิวด้านนอกฉาบปูน
ฐานทำเป็นชุดฐานบัวลูกฟักสี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น
รองรับองค์เรือนธาตุ นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จำนวน 2 องค์
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ อุโบสถ วิหารน้อย
และซากเจดีย์รายจำนวน 2 องค์
ภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่งด้วยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่
08.00-17.00 น.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่+66 3552 5867, +66 3552 5880
ที่อยู่ : เมืองสุพรรณบุรี, สุพรรณบุรี
เครดิต : https://1th.me/TlBC0วัดเขาดีสลัก
หากมาเยือนถึงวัดเขาดีสลัก
สิ่งแรกที่คุณต้องแวะไปเยี่ยมชมคือรอยพระพุทธบาทจำลอง
ซึ่งสร้างด้วยแผ่นหินทรายสีแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีลายกลีบบัวโดยรอบพระบาท โดยในปี พ.ศ. 2535 ฯ พณฯ บรรหาร ศิลปอาชา
ให้กรมศิลปากรมาพิสูจน์รอยพระพุทธบาท
สรุปได้ว่าเป็นสมัยใกล้เคียงกับพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
ต่อมาทางกรมเลยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและมีการสร้างมณฑปบนยอดเขาครอบเอาไว้อย่างสวยงาม
ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนขึ้นเขา
จึงถูกพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้เวลา 5 ปี
จุดเด่นของรอยพระพุทธบาทจำลองนั้น อยู่ที่ปลายนิ้วพระบาทยาวไม่เสมอกัน
ข้อนิ้วพระบาทมี 2 ข้อ
โดยข้อนิ้วพระบาทข้อแรกทำลายขมวดเป็นรูปก้นหอยตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะหรือมหาปริสลักขณะ
ดังที่พรรณนาไว้ในปฐมสมโพธิกถาฉบับภาษาบาลี
รวมทั้งในคัมภีร์ลิลิตวิสูตรฉบับภาษาสันสกฤต ข้อนิ้วที่ 2
ทำเป็นลายก้นขดหรือใบไม้ม้วนลักษณะคล้ายกับลวดลายพันธุ์พฤกษาซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะแบบทวารวดี
โดยจะเห็นจากลวดลายปูนปั้นประดับ ศาสนสถานหรือลวดลายประดับประติมากรรม
เนื่องในพุทธศาสนาสมัยทวารวดี บริเวณฝ่าพระบาททำเป็นรูปธรรมจักรขนาดเล็ก
มีกงล้อธรรมจักรจำนวน 16 ซี่ อยู่กลางฝ่าเท้าและรายล้อมด้วยภาพสลักรูปมงคล
108 ประการในกรอบวงกลม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบแห่งอื่น
คือ รอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 นอกจากนี้
ภายในวัดยังพบโพรงหินซึ่งมีพระพุทธรูปอยู่ด้านใน รวมทั้งมีโบราณวัตถุต่าง ๆ
อีกหลายชนิดให้ชวนทึ่ง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 09.00-16.00 น.
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3542 1444, 08 1197 4974
ที่อยู่ : หมู่ที่ 5 อู่ทอง, สุพรรณบุรี
เครดิต : https://1th.me/ntwHj
วัดพระรูป
ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามตลาดสุพรรณบุรี เป็นที่ตั้งของวัดพระรูป
วัดเก่าแก่ที่มีอายุตั้งแต่สมัยอู่ทองตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือ
"พระพุทธรูปปางไสยาสน์" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว
ซึ่งมีพระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก
สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1800-1893
และถือว่าเป็นพระนอนที่มีพระพักตร์งามที่สุดในประเทศไทย
ต่อมาเป็น "รอยพระพุทธบาทไม้" เป็นโบราณวัตถุที่หาค่าไม่ได้
ศิลปะการแกะสลักงดงาม ทำจากไม้ประดู่แกะสลักทั้ง 2 ด้าน
และมีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย เดิมพระพุทธบาทไม้อยู่ที่วัดเขาดิน
เมื่อตอนเกิดศึกไทย-พม่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกรงจะถูกทำลาย
จึงนำล่องลงมาทางน้ำแล้วเอาขึ้นที่วัดพระรูป ปัจจุบัน
ทางวัดได้นำกล่องพลาสติกใสมาหุ้มรอยพระพุทธบาทไม้ไว้ เพื่อป้องกันการชำรุด
ภายในบริเวณวัดยังมีเจดีย์อู่ทองและซากเจดีย์สมัยทวารวดี ระฆังสัมฤทธิ์
และธรรมาสน์สังเค็ด
(วัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ผู้เทศน์หรือผู้ชักบังสุกุลเมื่อเวลาปลงศพ)
ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้
ที่นี่ยังเป็นกรุของพระตระกูลขุนแผนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการพระเครื่องจำนวนมาก
โดยพระกรุของวัดพระรูปนั้น พบได้ตามลานดิน
กระจัดกระจายอยู่ภายในบริเวณวัดพระรูป เริ่มค้นพบกันมากในปี พ.ศ. 2508
ในเวลานั้น ทางวัดพระรูปจะสร้างพระอุโบสถใหม่แทนหลังเก่า ซึ่งชำรุดทรุดโทรม
ด้วยการสร้างคร่อมหลังเก่า พระอาจารย์ดี รองเจ้าอาวาสในสมัยนั้น
จึงป่าวประกาศชักชวนชาวบ้านให้มาช่วยกันขุดหลุมรอบ ๆ โบสถ์หลังเก่า
โดยแจ้งว่า หากใครพบพระก็เอาไป
ชาวบ้านทั้งหลายรู้ดีว่าใต้พื้นดินนั้นมีพระตระกูลขุนแผนอยู่
จึงอาสามาขุดกันจำนวนมาก พอขุดไปก็พบพระมากมาย
ภายหลังยังมีการทำเช่นนี้อีกหลายครั้ง และทุกครั้งที่มีการขุด
ก็พบพระเครื่องเป็นร้อยองค์ ทั้งนี้
พระตระกูลขุนแผนที่พบในบริเวณวัดพระรูปนั้น มีลักษณะเป็นเป็นเนื้อดินเผา
โดยมีอยู่ทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ พระขุนแผน พระขุนไกร พระพลายงาม พระพันวษา
พระกุมารทอง หรือพระยุ่ง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ +66 3552 5867, +66 3552 5880
ที่อยู่ : ถนนขุนช้าง เมืองสุพรรณบุรี, สุพรรณบุรี
เครดิต : https://1th.me/Zgml0
แสดงความคิดเห็น