ศาลหลักเมือง หรือ ศาลลูกศร
หากมีพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทยเชื้อสายจีนในลพบุรีเมื่อใด บริเวณศาลหลักเมืองจะเต็มไปด้วยผู้คน
ที่มีจิตใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธามาร่วมตัวกันเพื่อใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองลพบุรีแห่งนี้
เป็นที่ประกอบพิธีอยู่เสมอ โดยภายในศาลเป็นที่ประดิษฐานของหลักเมือง
ลักษณะเป็นแท่งหินโผล่ เหนือระดับพื้นดินขึ้นมา ความสูงประมาณ 1 เมตร
และแช่น้ำไว้ตลอดเวลาเชื่อกันว่าเมื่อใดที่น้ำรอบแท่งหินแห้งไป
จะเกิดไฟไหม้ในลพบุรี นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับหลักเมืองดังกล่าวไว้ในตำนานเมืองลพบุรีว่า
"หลักเมืองลพบุรี อยู่ทางตลาดข้างเหนือวังเรียกกันว่า ศรพระราม"
"ที่เรียกกันว่า
ศรพระรามนั้นเกิดแต่เอาเรื่องรามเกียรติ์มาสมมุติเป็นตำนานของเมืองนี้ คือ
เมื่อเสร็จศึกทศกัณฐ์
พระรามกลับไปครองเมืองอยุธยาแล้วจะสร้างเมืองประทานตรงนั้น
ลูกศรพระรามไปตกบนภูเขาบันดาลให้ยอดเขานั้นราบลง"
"ครั้นเสร็จแล้วพระรามจึงประทานนามว่า เมืองลพบุรี
ด้วยเหตุนี้จึงอ้างกันมาก่อนว่า
หลักเมืองนั้นคือลูกศรพระรามที่กลายเป็นหิน"
จะด้วยความเชื่อความศรัทธาหรือธรรมเนียมที่ปฏิบัติตามกันมาก็ตาม
นักท่องเที่ยวควรหาเวลามากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3677 0096-7
ที่อยู่ : ถนนพระราม เมืองลพบุรี, ลพบุรี
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เป็นเขื่อนแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทยด้วยความยาวทั้งสิ้น 4,860
เมตร สร้างขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสัก
ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยมีวัตถุประสงค์คือ
เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน
เขื่อนแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่กักเก็บน้ำแล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรีอีกด้วย
โดยกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของการมาเที่ยวที่นี่คือ
การนั่งรถรางไปตามแนวสันเขื่อนด้วยระยะทางไป-กลับกว่า 10 กิโลเมตร
ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับลมเย็นสบายพร้อมชมทัศนียภาพอันงดงามบริเวณอ่างเก็บน้ำซึ่งกิจกรรมที่ว่านี้จะมีเฉพาะวันหยุดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากมาเยือนในวันธรรมดา
คุณสามารถขึ้นไปยังชั้นบนสุดของหอคอยเฉลิมพระเกียรติเพื่อชมทัศนียภาพอันงดงามของเมืองลพบุรี
ได้รอบทิศแบบ 360
องศาเลยทีเดียวหรือจะแวะไปชมพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสักซึ่งจัดแสดงความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่นก็ยังได้
ที่สำคัญอย่าพลาดแวะไปกราบไหว้พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย
(หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก)
พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีขาวที่ประดิษฐานอยู่บริเวณท้ายเขื่อน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3649 4031-4 ข้อมูลเพิ่มเติมที่
www.pasakdam.com
ที่อยู่ : 111 หมู่ 6 พัฒนานิคม, ลพบุรี
ทุ่งทานตะวัน
หากจะดูทุ่งดอกทานตะวัน จะต้องมาถึงถิ่นลพบุรี
เพราะที่นี่เป็นจังหวัดที่มีการปลูกดอกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทยหรือประมาณ
200,000-300,000 ไร่ โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งเหลืองอร่ามสุดสายตาซึ่งโดยปกติแล้วแหล่งปลูกทานตะวันจะกระจายไปใน
เขตอำเภอเมือง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล โดยเฉพาะบริเวณเขาจีนแล
ใกล้วัดเวฬุวัน ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาชมทุ่งทานตะวันสามารถเลือกขับรถชมความงามตามเส้นทางต่าง
ๆ หรือจะเลือกจุดที่ลงไปถ่ายรูปใกล้ชิดกับทานตะวันก็ได้เช่นกัน
โดยสามารถเลือกตามจุดท่องเที่ยวที่จัดไว้ให้ ดังนี้
เส้นทางที่ 1
สระบุรี-หล่มสัก จุดแรกจากแยกพุแคระยะทางประมาณ 10-15 กิโลเมตร
จุดที่สองพอถึงสี่แยกตลาดซอย 12
เลี้ยวขวาไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีดอกทานตะวันสองข้างทางจนถึงตัวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และจุดที่สามขากลับจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขับรถตรงเข้าเมืองลพบุรี
สามารถแวะถ่ายรูปได้ตลอดเส้นทาง
เส้นทางที่ 2 ลพบุรี-พัฒนานิคม-วังม่วง
จุดแรกเขาจีนแล ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
เป็นจุดที่สวยที่สุดเนื่องด้วยทิวทัศน์ด้านหลังทุ่งทานตะวันเป็นภูเขาสูงต่ำลดหลั่นกันไป
จุดที่สองบ้านหนองถ้ำ-ซับเสือแมบ ห่างจากจังหวัดลพบุรีระยะทางประมาณ 15
กิโลเมตร
จุดที่สามอ่างซับเหล็กจุดนี้จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และมีทุ่งทานตะวันอยู่ด้านล่าง
ด้านหลังทุ่งทานตะวันจะมีภูเขาที่สวยงาม เรียกว่า เขาตะกร้า
สัมผัสทุ่งทานตะวันอย่างใกล้ชิด
มีทุ่งทานตะวันของเอกชนให้เปิดให้บริการมากมายดังนี้
1.ทุ่งทานตะวัน
ชอนน้อย ตำบลชอนน้อย อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
2.ไร่ทานตะวันคุณจำปี
ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม กม.30-31 ทางหลวง 3017 ซอย 15-16
3.ทุ่งทานตะวันไร่คุณณรงค์ มุกดารา ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม ทางหลวงหมายเลข
3017 ก่อนถึงเขื่อน 4 กม.
4.ทุ่งทานตะวันเขาจีนแล (วัดเวฬุวัน)
บริเวณทางเข้าวัดเวฬุวัน บ้านท่าเดื่อ ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง
5.ทุ่งทานตะวันบาน ไร่คุณปู่ อ.พัฒนานิคม ก.ม. 11-12 ถนนหมายเลข 21
6.ทุ่งทานตะวันบ้านซับราง ตั้งอยู่บริเวณนิคมบ่อ 6
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ททท. สำนักงานลพบุรี โทร. 0 3642 2768-9 หรือ 1672
ที่อยู่ : เมืองลพบุรี, ลพบุรี
สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง
แม้ว่าน้ำตกวังก้านเหลืองที่อยู่ภายในสวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลืองจะไม่ได้มีขนาดยิ่งใหญ่อลังการเท่าไหร่นัก
หากแต่ในความเล็กกลับซ่อนปริศนาไว้มากมายจนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่
ได้แวะมาเยือนจังหวัดลพบุรี
โดยจุดกำเนิดของน้ำตกวังก้านเหลืองเกิดจากน้ำที่ผุดขึ้นจากลำห้วยเล็ก ๆ
หลายจุดส่งผลให้น้ำไหลคดเคี้ยวเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
และไปบรรจบรวมกันที่อ่างน้ำ จึงเรียกว่า "วังหว้าง"
โดยบริเวณนั้นจะมีสันหินปูนขวางอยู่ น้ำที่เอ่อล้นจึงไหลลงไปปะทะกับหินปูน
เกิดเป็นน้ำตกกว้าง 20 เมตร ลดหลั่นไปตามชั้นหินงดงามยิ่งนัก
ความพิเศษอันเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของน้ำตกวังก้านเหลืองแห่งนี้
คือมีน้ำไหลแรงตลอดปีทำให้สามารถเที่ยวได้ตลอดทุกฤดูกาล
นอกจากนี้ตลอดทางเดินและบริเวณรอบ ๆ น้ำตกยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่
มีสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในจังหวัดลพบุรี ด้วยความยาวถึง 66 เมตร
สำหรับใช้เป็นทางเดินข้ามน้ำตกระหว่างฝั่งอำเภอชัยบาดาลกับอำเภอท่าหลวง
นอกจากนี้
ตลอดทางเดินไปน้ำตกยังรายล้อมไปด้วยร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกสำหรับรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว
แม้กระทั่งอุปกรณ์ลงเล่นน้ำที่มีให้บริการอย่างครบครัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 08 6043 9582
ที่อยู่ : หมู่ 4 ชัยบาดาล, ลพบุรี
เครดิต : https://zhort.link/iF3
พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ชาวเมืองลพบุรีเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "วังนารายณ์" เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ
ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ
เมืองลพบุรีเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่นี่ก็ถูกทิ้งร้าง
จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี
พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์"
พื้นที่ทั้งหมดภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ
เขตพระราชฐานชั้นนอกประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก สิบสองท้องพระคลัง
ตึกพระเจ้าเหา ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศโรงช้างหลวง 10 โรง ส่วนต่อมาคือ
เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีอาคารต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งจันทรพิศาล
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ
(ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์เชื่อมติดกัน ได้แก่ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
,พระที่นั่งสุทธิวินิจฉัย ,พระที่นั่งไชยศาสตรากร
และพระที่นั่งอักษรศาสตราคม) ทิมดาบ หรือ
ที่พักของทหารรักษาการณ์และสุดท้ายคือเขตพระราชฐานในมีพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และหมู่ตึกพระประเทียบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3641 1458
ที่อยู่ : ถนนสรศักดิ์ เมืองลพบุรี, ลพบุรี
แสดงความคิดเห็น