11/10/64

สถานที่ท่องเที่ยวที่อ่างทอง

อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว

อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ. 2309 โดยนายดอกและนายทองแก้ว เป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มของ 11 วีรชนแห่งชาวบ้านบางระจัน ซึ่งการรบที่บางระจันนั้น เป็นการรบเพื่อป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยกองทัพพม่าสงครามบางระจันในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง จนได้ชื่อว่า "เข้มแข็งกว่ากองทัพ ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น" และมีกิตติศัพท์เลื่องลือด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย วีรกรรมอันกล้าหาญของนักรบไทยค่ายบางระจัน เป็นที่ภาคภูมิใจและอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมา ชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอก และนายทองแก้วไว้ ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จ พระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 ในวันนี้ของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจะทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดี ในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านอย่างมิอาจลืมเลือน ตำนานแห่งวีรบุรุษ ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดี ซึ่งแต่เดิมทีจะปราบปราม กบฏต่ออาณาจักรพม่าเท่านั้น แต่เนื่องจากความอ่อนแอของอาณาจักรอยุธยา ทำให้เนเมียวสีหบดีตั้งเป้า ที่จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา โดยรุกเข้าสู่อยุธยาทางเหนือ และมาหยุดที่เมืองวิเศษชัยชาญ จากนั้นสั่งให้ทหารพม่ากวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรจึงพากันโกรธแค้น และวางแผนต่อสู้ร่วมกัน โดยประกอบด้วยชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียง ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันนี้มีหัวหน้าคนสำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่าให้ไปหาทรัพย์ที่ต้องการ ทหารพม่าเกิดหลงเชื่อ จึงถูกนายโชติ และพรรคพวกที่ซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีกระเจิงไปยังบางระจัน ในขณะนั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ต่างเข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก โดยชาวบ้านอพยพและไปขอพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคม ต่อมานายแท่นและคนอื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น ในขณะนั้นมีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วย คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ รวมทั้งนายดอก และนายทองแก้ว รวมทั้งหมด 11 คน โดยตั้งกองสู้กับกองทัพพม่าอย่างไม่เกรงกลัวต่อความตาย
 
 
ที่อยู่ : หมู่ 2 ถนนคลองขุน วิเศษชัยชาญ, อ่างทอง
เครดิต :  https://1th.me/wt4JF


วัดขุนอินทประมูล

วัดโบราณเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานได้จากซากอิฐแนวเขตเดิมจึงคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอดีตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า พระศรีเมืองทอง มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝน อยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธา ภายในวัดมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ส่วนศาลาเอนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูลบ้างก็ว่าไม่ใช่ สันนิษฐานกันตามประวัติที่ได้เล่ากันว่า เป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย และกลายเป็นที่มาของชื่อ 'วัดขุนอินทประมูล'
 
 
ที่อยู่ : โพธิ์ทอง, อ่างทอง
เครดิต : https://1th.me/1IQ0A


วัดอ่างทองวรวิหาร

ก่อนหน้าที่จะเป็นวัดอ่างทองวรวิหารเช่นในปัจจุบัน เดิมทีวัดแห่งนี้เป็นวัดเล็ก ๆ สองวัด คือวัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองแห่งเป็นวัดเดียวกัน ตรงกับปี พ.ศ. 2443 และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอ่างทอง ความโดดเด่นสะดุดตาที่ใครผ่านมา ต้องมาหยุดตรงที่พระอุโบสถอันแสนงดงามมีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักและดูเป็นระบบระเบียบตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของงานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์นับตั้งแต่พระครูวิเศษชยสิทธิ์ได้มาปกครองที่วัดแห่งนี้ โดยการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ เช่น ทำกำแพงแก้วพระอุโบสถ ตลอดจนปูกระเบื้องซีเมนต์ พื้นของกำแพงแก้ว และก่อสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปต่าง ๆ อีกด้วย สำหรับพระประธานในพระอุโบสถสร้างด้วยก่ออิฐถือปูน เป็นพระปางมารวิชัย และเป็นพระประธานคู่กับวัดมาแต่แรก มีลักษณะที่ไม่ถูกสัดส่วน ซึ่งในขณะนั้นเริ่มชำรุดและเอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจนใกล้โค่น แต่ยังไม่มีใครคิดปฏิสังขรณ์ หรือแก้ไขให้คืนดังเดิม ด้วยเห็นว่าเป็นพระที่ปั้นด้วยปูน หากขยับเขยื้อนก็เกรงจะเป็นการซ้ำเติมให้พังเร็วลงอีก ซึ่งดูจะเป็นบาปแก่ผู้กระทำ จึงปล่อยให้เอนอยู่อย่างนั้น และพากันคาดคะเนว่า ในชั่วเวลาอีกไม่เกินหนึ่งปี ก็จะโค่นลงมาเอง ภายหลังได้ร่วมใจกันหล่อพระประธานขึ้นใหม่ด้วยโลหะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.42 เมตร สูง 2.00 เมตร โดยผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยเมื่อครั้งทรงพระชนม์ชีพอยู่มีขนาดเท่านั้น และหวังว่าถ้าพระองค์เดิมพังแล้ว ก็จะนำองค์ที่หล่อขึ้นใหม่ประดิษฐานแทนการหล่อพระประธานองค์นี้ ครั้งแรกปรากฏว่าตอนพระเศียรไม่ติด ต่างพากันเข้าใจว่าเป็นความบกพร่องของนายช่าง เมื่อการหล่อครั้งแรกไม่สำเร็จ จึงได้กระทำพิธีหล่อขึ้นใหม่ ในการหล่อครั้งหลังนี้ นายช่างได้กระทำพิธีสักการบูชา และบอกกล่าวต่อพระประธานองค์เดิม จึงปรากฏว่าการหล่อครั้งหลังนี้สำเร็จลง แม้จะไม่เรียบร้อย ก็พอจะตบแต่งให้เข้าที่ได้ จึงส่งไปขัดที่บ้านช่างหล่อธนบุรี เมื่อขัดแล้วเสร็จ ก็ได้นำเข้าไปไว้ในพระอุโบสถ เพื่อรอโอกาสให้องค์เดิมพังก็จะได้นำองค์ใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน ต่อมาไม่นาน พระประธานองค์ที่คาดกันว่าจะโค่นพังลงมานั้นแทนที่จะโค่นลงตามความคาดหวัง กลับตั้งตรงขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นเช่นนี้ จึงชวนให้สงสัย คงจะมีใครไปจัดการแก้ไขให้กลับคืนมาเป็นแน่ แต่เมื่อได้ตรวจดูกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่มีรอยปรากฏที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครเข้าไปแตะต้องเลย ในขณะที่เอนอยู่เดิมนั้นเพราะแท่นได้ชำรุดลงไปแถบหนึ่ง และแถบนั้นก็น่าจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ส่วนอีกแถบหนึ่ง การรับน้ำหนักก็มีแต่จะน้อยลงแต่แถบดังกล่าวนี้กลับทรุดลงไปเสมอกันอีก จึงทำให้องค์พระประธานตั้งตรงได้ดิ่งกับฉัตรที่เหนือพระเศียรพอดี สร้างความงุนงงแก่ผู้พบเห็นเป็นอันมากต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านแสดงอภินิหารให้ปรากฏ ประชาชนจึงพาเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น จนทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นอีก โดยทำแท่นให้แข็งแรงและลงรักปิดทองจนเป็นที่เรียบร้อย สำหรับองค์ที่หล่อขึ้นใหม่นั้นก็ได้นำขึ้นประดิษฐานไว้ตอนหน้าพระองค์เดิมนั่นเอง
 
 
ที่อยู่ : เมืองอ่างทอง, อ่างทอง
เครดิต :  https://1th.me/WyyDt
 

วัดสระแก้ว


วัดสระแก้วเดิมคือวัดสะแก เล่าขานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือประมาณ 300 ปีเศษมาแล้ว และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระแก้วในปี พ.ศ. 2495 โดยพระอธิการ ฉบับ ขันติโก (พระครูขันตยาภิวัฒน์) นอกจากนั้น พระครูขันตยาภิวัฒน์ หรือหลวงพ่อฉบับยังเป็นผู้ริเริ่มในการให้ความอุปการะและเลี้ยงดู เด็กกำพร้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 เนื่องจากหลวงพ่อฉบับเคยเล่นลิเกมาก่อนที่จะมาอุปสมบท ท่านจึงมีดำริที่จะอบรมสั่งสอนศิลปะวิทยาด้านการแสดงลิเกให้แก่เด็กๆเพื่อรักษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้ดำรงสืบไปและสิ่งนี้ก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดสระแก้วเมื่อหลายสิบปีก่อน จนคนทั่วไปเรียกขานว่า "ลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว" ภายหลังปี พ.ศ. 2531 เมื่อหลวงพ่อฉบับมรณภาพลง จึงมีผู้รับหน้าที่บริหารให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและยากจนต่อคือ พระครูพิศาลรัตนาภิวัฒน์ หรือหลวงพ่อไพฑูรย์ ซึ่งหลวงพ่อไพฑูรย์ของเด็ก ๆ วัดสระแก้วได้ให้ความอุปถัมภ์เด็กอยู่ได้เพียง 18 ปี เท่านั้น ท่านก็ได้มรณภาพลงไปอีกรูปหนึ่ง หลังการเสียหลวงพ่อไพฑูรย์ไป หลวงพ่อไพเราะหรือ ดร.พระมหาไพเราะ ฐิตสีโล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้เข้ามาบริหารจัดการตลอดจนให้ความช่วยเหลือดูแลและอนุเคราะห์แก่เด็กกำพร้าที่ยากจนของวัดสระแก้วเรื่อยมา จนกระทั่งก่อตั้งเป็นโรงเรียนวัดสระแก้ว (หรือรุ่งโรจน์ธนกุลอุปถัมภ์) โดยหลวงพ่อไพเราะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและบริการสังคม เทียบเท่าคณบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ความที่หลวงพ่อรูปนี้เป็นพระนักพัฒนา และมีเมตตาธรรมสูง อีกทั้งยังเป็นพระนักเทศน์ชื่อดัง จึงมีลูกศิษย์มากมาย

 

ที่อยู่ : ป่าโมก, อ่างทอง

เครดิต :  https://1th.me/yTZzK

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only