สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว เป็นศูนย์วิจัยพันธุ์ไม้ในเขตป่าภาคอีสานและเปิดให้หมู่คณะที่สนใจมาจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเชิงนิเวศ อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (นครราชสีมา-กบินทร์บุรี) ระยะทาง 57 กิโลเมตรจากตัวเมือง มีพื้นที่ประมาณ 78 ตารางกิโลเมตร (48,750 ไร่) สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง พบสัตว์ป่าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้าพระยาลอและนกต่าง ๆ หากได้มีโอกาสปีนขึ้นไปบนยอดหอคอยสูงเหนือระดับยอดไม้ที่ทางสถานีสร้างขึ้น จะมองเห็นผืนป่าเขียวขจีอันกว้างใหญ่รายล้อมอยู่รอบตัว ตลอดจนเห็นเขาแผงม้าที่อยู่ไกลออกไป อากาศที่นี่เย็นสบายตลอดปี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทางซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมง มีบ้านพักไว้บริการจำนวน 3 หลัง พักได้หลังละ 20 คน สอบถามรายละเอียด โทร. 0 4425 8642 และ 0 4424 4474
ที่อยู่ : สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช 1 หมู่ 9 ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 30370 วังน้ำเขียว, นครราชสีมา
เครดิต : https://1th.me/edKyn
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีอายุราว 3,000 ปีเป็นที่รู้จักเพราะ นักค้าของเก่าลักลอบนำโบราณวัตถุในบริเวณหมู่บ้านไปขาย กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการจับกุมพร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาแหล่ง โบราณคดีนี้ในปี 2526 พบว่าแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น มีลำธารปราสาทไหลผ่านด้านเหนือ มีมนุษย์มาตั้งชุมชนครั้งแรกราว 3,000 ปีมาแล้ว รู้จักการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สำริดบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ทำภาชนะดินเผาทรงปากแตรสีแดงขัดมันและมีการนำภาชนะดังกล่าวฝังร่วมกับศพด้วย ต่อมาในราว 2,200 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยผลิตภาชนะดินเผาแบบพิมายดำขึ้นแทน มีการนำเหล็ก สำริด หินสีต่าง ๆ เช่น หินคาร์นีเลียน หินอเกต มาทำเครื่องใช้เครื่องประดับ จนราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรเข้ามา แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ชุมชนนี้จะสิ้นสุดไป แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 นครราชสีมา-ขอนแก่น ถึงกิโลเมตรที่ 44 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯ หรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่ กม.44 แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500 ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า "กู่ธารปราสาท" และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี ลักษณะทั่วไป
1. เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ และมีอายุที่เก่าแก่ที่สุดของเขตภาคอีสานตอนล่าง มีการจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ประกอบด้วยหลุมขุดค้นจำนวน 3 หลุม โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 59 โครง รวมทั้งโบราณ วัตถุอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
2. เป็นแหล่งศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในอดีต ของดินแดนภาคอีสานตอนล่าง
3. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น
หลักฐานที่พบ
1. โครงกระดูกมนุษย์อยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 1.50-5 เมตร แสดงถึงการอยู่อาศัยทับซ้อนกันยาวนาน
2. ภาชนะดินเผา หม้อปากแตร และหม้อแบบพิมายดำ
3. เครื่องประดับและเครื่องมือสำริด
เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ไปตามถนนมิตรภาพ นครราชสีมา-ขอนแก่น แยกเข้าซ้ายมือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 25
ที่อยู่ : โนนสูง, นครราชสีมา
เครดิต : https://1th.me/M5PI1
ปราสาทนางรำ
ปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่เรียกว่าเป็น อโรคยาศาล (โรงพยาบาล) สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มาของชื่อปราสาทนางรำมาจาก เดิมเคยมีรูปนางรำ เป็นหินสีเขียวทำแบบเทวรูป อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารห่างไป 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยของเทวสถานและแท่นหิน ที่นี่ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 2 กลุ่มตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน กลุ่มปรางค์ที่สมบูรณ์กว่าหลังอื่นประกอบด้วยปรางค์องค์กลาง มีมุขยื่นออกไปข้างหน้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทมีวิหารก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ส่วนซุ้มโคปุระหรือประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปกากบาท นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ มีปราสาทอีก 3 หลังเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเหลือเพียงฐานและมีกรอบประตูและทับหลังหินทรายตั้งแสดงอยู่ มีกำแพงศิลาแลงและคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ ปราสาทนางรำ ตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ ตำบลนางรำ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ 62 กิโลเมตร จนถึงแยกบ้านวัด เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 207 ไปประมาณ 22 กิโลเมตรถึงบ้านหญ้าคา (หรือก่อนถึงตัวอำเภอประทาย 11 กิโลเมตร) จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางเข้าวัดปราสาทนางรำอีก 4 กิโลเมตร
ที่อยู่ : บ้านนางรำ ประทาย, นครราชสีมา
เครดิต : https://1th.me/X5lI0
ประตูชุมพล
หนึ่งใน 4 ประตูเมืองโบราณของโคราชที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นของจริงในปัจจุบัน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ พ.ศ. 2199 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาและสร้างกำแพงประตูเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบผังเมือง เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1,000 x 1,700 เมตร เดิมมีประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสนด้านทิศเหนือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตู ไชยณรงค์ด้านทิศใต้ และประตูชุมพลด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเหลือเพียงประตูชุมพลเท่านั้นที่เป็นประตูเมืองเก่า ส่วนอีกสามประตูสร้างขึ้นใหม่ ลักษณะประตูชุมพลเป็นประตูเชิงเทินก่อด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐฉาบด้วยปูน ส่วนบนเป็นหอรบ สร้างด้วยไม้แก่นหลังคามุงกระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้า กระจังและนาคสะดุ้ง กำแพงต่อจากประตูทั้งสองข้างก่อด้วยอิฐ ส่วนบนสุดทำเป็นรูปใบเสมา กล่าวกันว่าถ้าใครได้ลอดประตู 1 ครั้ง จะได้กลับมาโคราชอีก ลอดประตู 2 ครั้ง จะได้ทำงานหรือมาอยู่โคราช ลอดประตู 3 ครั้ง จะได้คู่ครองเป็นคนโคราช
ที่ตั้ง : ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา
เครดิต : https://1th.me/eNqqa
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ประกอบด้วยปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นปราสาทหินที่ใหญ่โตงดงาม และยังมีความสมบูรณ์มาก จุดเด่นของปราสาทหินพิมาย (Prasat Hin Phimai) ที่แตกต่างไปจากปราสาทหินแห่งอื่น คือ ปราสาทหินแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ ส่วนปราสาทหินอื่น ๆ จะหันไปทางทิศตะวันออก สถานที่ที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย สะพานนาคราช ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้มประตูฝั่งทิศใต้ของปรางค์ประธาน เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว ก่อด้วยหินทรายแดง ซุ้มประตู และระเบียงคด ก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ปรางค์ประธาน เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ ต่างจากซุ้มประตูและกำแพงที่สร้างด้วยหินทรายสีแดง ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคด ปรางค์พรหมทัต สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภายในปรางค์มีรูปประติมากรรมฉลององค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่7 (จำลอง) ปรางค์หินแดง สร้างด้วยหินทรายแดง เหนือกรอบประตูมีทับหลังสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะ ตอนกรรณะ(ไม่ใช่กรรณะแต่เป็นอรชุน)ล่าหมูป่า หอพราหมณ์ ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับบปรางค์หินแดง สถานที่น่าสนใจใกล้เคียง (Phimai travel guide) ประตูเมืองและกำแพงเมืองพิมาย จากช่องประตูเมืองด้านทิศใต้ จะมองเห็นปราสาทหินพิมายผ่านช่องประตูเมืองพอดี เมรุพรหมทัต เชื่อว่าเป็นที่ถวายเพลิงพระศพท้าวพรหมทัตตามตำนาน กุฏิฤาษี ตั้งอยู่ตรงบริเวณสิ้นสุดของถนนโบราณที่มีต้นทางจากเขมร ท่านางสระผม เป็นท่าน้ำเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในแนวถนนโบราณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจมากมายให้ได้ชมและศึกษา จัดแสดงเรื่องราวของแหล่งอารยธรรมในอดีต ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ของขอมและกลุ่มชนทางอีสานของไทย
ข้อมูลการเดินทางสู่ปราสาทหินพิมาย : จากตัวเมืองโคราช เดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ตรงทางแยกตลาดแค เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 ประมาณ 10 กิโลเมตร
ที่อยู่ : พิมาย, นครราชสีมา
เครดิต : https://1th.me/bgaKs
แสดงความคิดเห็น