11/10/64

อ่างทองเที่ยวที่ไหนดี

วัดต้นสน

วัดเก่าแก่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือราว ปี พ.ศ. 2310 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะอุโบสถหลังเก่ามี บัวอ่อน คันทวย แต่ไม่มีจดหมายเหตุบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เล่าสืบต่อกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งในเวลาต่อมาวัดเกิดทรุดโทรมจนเกือบกลายสภาพเป็นวัดร้าง เพราะไม่มีปูชนียวัตถุแต่อย่างใด ต่อมาปี พ.ศ. 2488 พระราชสุวรรณโมลี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ได้เริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเนื้อที่ของวัดมีเพียง 14 ไร่เศษเท่านั้น ต่อมาได้ขอซื้อที่ดินขยายที่ตั้งวัดออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวัดจึงมีพื้นที่ทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา วัดต้นสนเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดี ศรีเมืองทอง หรือชื่อย่อว่า สมเด็จพระศรีเมืองทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิมเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีสวมเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อ 7 มีนาคม 2528 นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่งดงามอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีวังปลาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย
 
 
ที่อยู่ : หมู่ที่ 10 ถนนเทศบาล 10 เมืองอ่างทอง, อ่างทอง
เครดิต : https://1th.me/DLwXb
 
 
 
 

วัดท่าอิฐ

วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2304 บริเวณที่ตั้งเดิมเข้าใจว่าเป็นที่ปั้นและเผาอิฐเพื่อนำไปก่อสร้างวัดขุนอินทประมูล และเมื่อได้สร้างวัดขึ้น จึงขนานนามว่า “วัดท่าอิฐ” พระประธานในอุโบสถมีนามว่า หลวงพ่อเพ็ชร ส่วนพระประธานในวิหารเรียก “หลวงพ่อขาว ” เป็นพระพุทธรูปสร้างในสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่ในวิหารมหาอุด นอกจากนี้มี พระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง โดดเด่นสีทองอร่าม สร้างปี พ.ศ. 2535โดยพระครูสุคนธศีลคุณ ( หลวงพ่อหอม ) องค์พระเจดีย์มีความกว้าง 40 เมตร สูง 73 เมตร รูปแบบศิลปะลังกา - อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ลักษณะเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม มีองค์ระฆังและปล้องไฉน 32ปล้อง และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประชวร ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเริ่มก่อสร้างเจดีย์ พระคุณสุคนธศีลคุณ จึงน้อมจิตถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเจดีย์ว่า พระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงทำพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ. 2543
 
 
ที่อยู่ : โพธิ์ทอง, อ่างทอง
เครดิต : https://1th.me/ULmUy
 
 
 

วัดถนน

 

 วัดเก่าแก่ที่ปลูกสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2323 ในสมัยกรุงธนบุรี ภายในวัดมีพระยืนขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ในวิหารนามว่า "หลวงพ่อพระพุทธรำพึง" หรือ "พระพุทธรำพึง" เป็นพระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักด้วยไม้ สูง 2 เมตรกว่า โดยพระพุทธรูปปางรำพึง คือ พระพุทธรูปในอิริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นปางขณะที่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็น บุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่าและทรงตั้งพุทธปณิธานที่จะแสดงธรรมโปรดสั่งสอนเวไนยสัตว์ และจะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า ตามประวัติเล่าขานว่า ที่วัดถนนเคยมีแพลอยน้ำมาหน้าวัด และไม่ยอมลอยน้ำต่อไป พระทองอยู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ลงไปดูพบว่าในแพมีพระทำด้วยไม้แกะสลักต้องทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระแกะสลักองค์นี้ขึ้นมา คนที่ไปกราบไหว้บูชาจะเสี่ยงโชคขอพรให้ตั้งไข่ที่หน้าหลวงพ่อ ถ้าใครตั้งไข่ได้ แสดงว่ามีโชคลาภ ดวงดี ถ้าใครตั้งไข่ไม่ได้ ก็แสดงว่าไม่มีดวง ถ้าจะแก้บนสิ่งที่ทำนายคือให้แก้บนด้วยไข่ต้ม ละครและพวงมาลัย ปัจจุบันถือเป็นวัดที่น่าไปเยี่ยมชมและแวะสักการะของผู้ไปเยือนจังหวัดอ่างทอง ภายในมีสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น รอยพระพุทธบาทลอยฟ้า ซึ่งแกะสลักด้วยไม้ติดอยู่บน เพดานศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง 30 นิ้ว ยาว 70 นิ้ว อายุนับ 100 ปี ส่วนภูมิทัศน์ในวัดมีแผนผังเป็นระบบระเบียบประกอบไปด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ทรงไทย ซึ่งแวดล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้ดอกสวยงามหลากหลาย มีหมู่พระเจดีย์รายล้อมอยู่รอบพระอุโบสถหลังเก่า เมื่อนำรถเข้ามาจากประตูหน้าวัด จะมองเห็นยักษ์ปูนปั้นทำหน้าที่อารักขาวัดอยู่อย่างเข้มแข็งและน่าเกรงขาม
 
 
ที่อยู่ : ป่าโมก, อ่างทอง
เครดิต : https://1th.me/MDvMv
 
 

วัดชัยมงคล

วัดชัยมงคล สร้างราวปี พ.ศ. 2400 หรือปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2525 ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นอย่างทันสมัย โดยนำเอาศิลปะสมัยใหม่มาผสมผสาน เช่น การใช้สีสะท้อนแสง การเขียนแบบเหมือนจริง การให้น้ำหนักสีอ่อนและเข้ม บนผนังเหนือหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมเพียงแถวเดียว ในขณะที่ผนังตรงข้ามองค์พระประธาน เขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนพุทธบัลลังก์แทนภาพมารผจญ นอกจากนี้ ที่ศาลาการเปรียญของวัดชัยมงคลนั้น ทางพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาส ได้สร้างศาลาการเปรียญที่สูง 3 ชั้น พร้อมติดตั้งลิฟต์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นลงมานานหลายปี บริเวณชั้นล่างใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ส่วนชั้น 2 ใช้ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานฐาน พร้อมห้องรับรองสำหรับพระและญาติโยมผู้มาปฏิบัติธรรม ชั้นบนสุดใช้สำหรับประชุมคณะสงฆ์ ประดับประดาไปด้วยภาพจิตรกรรมที่สวยงามน่าประทับใจ 
การเดินทาง จากทางหลวงสายเอเชียหมายเลข 2 เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองอ่างทอง ถึงตลาดเมืองอ่างทอง วัดชัยมงคลตั้งอยู่ที่ถนนเทศบาล 10
 
 
ที่อยู่ : เมืองอ่างทอง, อ่างทอง
เครดิต :  https://1th.me/Wekd8
  
 
 

วัดวิเศษชัยชาญ

วัดวิเศษชัยชาญเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สิ่งก่อสร้างเดิมเหลือเพียงเจดีย์เท่านั้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างอื่น นอกเหนือจากนั้นได้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมชาวบ้านเรียกว่า "วัดท่าสุวรรณ" และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดวิเศษชัยชาญ" เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2499 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2472 พื้นที่ตั้งของวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมแม่น้ำน้อย จึงมักถูกน้ำท่วมในฤดูฝน อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีพระอุโบสถที่มีลักษณะงดงาม และมีการยกพื้นใต้ถุนสูง กว้าง 14 เมตร ยาว 19 เมตร สร้าง พ.ศ. 2474 มีเสากลม 12 ต้น อยู่ด้านนอกมีหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น และมีลวดลายที่งดงามบนหน้าบัน ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนัง 4 ด้าน เขียนขึ้นราว 30 ปีเศษ จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในสมัยเดียวกัน เป็นภาพพุทธประวัติและภาพข้าศึกที่ เป็นชาวต่างชาติ โดยภาพทั้งหมดเขียนแบบแรเงาโดยนายปุ๋ย พุ่มรักษา ช่างในเมืองหลวง ส่วนด้านข้างพระอุโบสถมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญกว้าง 15 เมตร ยาว 29 เมตร สร้าง พ.ศ. 2472 กุฎีสงฆ์จำนวน 10 หลัง เป็นอาคารคอนกรีต สำหรับปูชนียวัตถุ มีพระประธานในอุโบสถ และมีอนุสาวรีย์วีรบุรุษ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ คือนายดอก และนายทองแก้ว ตั้งตระหง่านด้านหน้าวัด สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3553 6030, 0 3553 5789, 0 3553 6189
 
 
ที่อยู่ : วิเศษชัยชาญ, อ่างทอง
เครดิต :  https://1th.me/kRpuo
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only